ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในแต่ละปีผู้สูงอายุในไทย 3 ล้านคนต้องประสบกับ ‘การพลัดตกหกล้ม’ อีกทั้งแต่ละวันจะมีผู้สูงอายุ ‘เสียชีวิต’ จากอุบัติเหตุดังกล่าวถึงวันละ 4 คน

ขณะที่แต่ละครอบครัวก็ระวังกันสุดฤทธิ์ ด้วยการหาเครื่องช่วยพยุงสำหรับช่วยการเคลื่อนไหวร่างกายอย่าง ‘ไม้เท้า’ หรือ ‘วอล์คเกอร์’ มาซัปพอร์ต เพราะรู้ว่าทันทีที่ผู้สูงอายุในบ้านเกิดพลัดตกหกล้ม นั่นไม่ใช่แค่การเข้าโรงพยาบาลรักษาทางกายหายแล้วจบ

แต่หมายถึงสภาพจิตใจและการดำเนินชีวิตหลังจากนั้นที่ไม่เหมือนเดิมด้วย เนื่องจากความเสื่อมตามวัยของ ‘กระดูก’ ทำให้ ‘เปราะบาง’ ต่อการหักได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งปลายทางเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็คือการเป็น ‘ผู้ป่วยติดเตียง’ ที่ต้องอาศัยการพึ่งพาพึ่งพิงผู้อื่น และอาจเข้าใจไปว่าตนเองเป็นภาระของคนในครอบครัว

อย่างไรก็ดี น้อยคนนักจะรู้ว่าเจตนาดีที่ต้องการป้องกันคนที่รักให้ปลอดภัย อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นต้นตอของสิ่งเหล่านั้นเองได้เหมือนกัน 

เพราะการใช้เครื่องช่วยพยุงในการเคลื่อนไหว หากไม่ถูกที่ถูกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอน ‘ขึ้น-ลงบันได’ จะยิ่ง ‘เพิ่มความเสี่ยง’ ให้เกิดการพลัดตกหกล้มมากขึ้น โดยเป็นข้อเท็จจริงที่ นพ.จุมพล ฟูเจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ยืนยันกับ “The Coverage”

ด้วยการก้าวขึ้นก้าวลงบันไดต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ ขณะเดียวกันขาก็ต้องขยับไปพร้อมแขนด้วย แต่ผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้าในการช่วยพยุงเดินมักมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามธรรมชาติ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งจะเริ่มทรงตัวได้ไม่ค่อยดี ช่วงที่กำลังก้าวขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้แรงและสมาธิในการโฟกัสไปที่มือข้างที่จับราวบันได จึงอาจทำให้มืออีกข้างที่จับไม้เท้าขยับค้ำบนขั้นบันไดพลาดได้

นอกจากนี้ วินาทีที่กำลังพลัดตกมือข้างที่จับราวบันไดมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ในการรั้งเพื่อยื้อพยุงร่างกายไม่ไหว ส่วนถ้าจะใช้มืออีกข้างเพื่อคว้าจับช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะจับไม้เท้าซึ่งหลักลอยไม่ได้ยึดติดกับอะไร สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยอุบัติเหตุ

วิธีที่ถูกต้องจึงไม่ควรใช้ไม้เท้าระหว่างขึ้นลงบันได และยิ่งถ้ามีอาการเจ็บข้อเข่าด้วยแล้ว ควรใช้หลักการ ‘ดีขึ้น-เลวลง’ ซึ่งหมายถึง การใช้ขาที่ไม่มีอาการเจ็บขึ้นก่อน ตามด้วยขาข้างที่ไม่เจ็บเดินตามอย่างช้าๆ ที่ละขั้น เพื่อที่จะให้ขาข้างที่ปกติเป็นขาหลักในการรับน้ำหนัก

กระนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘การป้องกันตั้งแต่ต้น’ เช่นที่ โรงพยาบาลน่าน ใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘น่านโมเดล’ ในการหยุดการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุให้เป็น 0 ภายในเขตเมืองและกำลังจะขยายไปสู่ระดับจังหวัด

ภายหลังได้สำรวจปัญหาและพบว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม คือ สภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เหมาะสม การกินอาหาร การเสริมแคลเซียมแทบไม่มี ซึ่งทำให้ส่งผลต่อความแข็งแรงของมวลกระดูก

นพ.วรพงษ์ สุจริตพงษ์พันธ์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพบริการและมาตรฐาน โรงพยาบาลน่าน บอกกับ “The Coverage” ว่า หลักสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ‘การติดตาม-สร้างแรงกระตุ้น-ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด’ ผ่านการประสานกับด่านหน้าที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดอย่าง อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

“เราขอ อสม. ให้เพิ่มการพูดคุยกับผู้สูงอายุใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การกินอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง 2. การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก จะช่วยให้ลดกระดูกพรุนได้ 3. การจำกัดสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง และปรับปรุงให้เหมาะสม ไม่ว่าห้องนอน ห้องครัวถึงห้องน้ำ” นพ.วรพงษ์ อธิบาย

ในบรรดา 3 เรื่องเหล่านี้ 2 วิธีหลังดูจะช่วยให้เห็นภาพชัดที่สุดว่าหากทำแล้วจะเห็นผลได้ทันที ในขณะที่วิธีแรกคนอาจไม่ค่อยเชื่อมั่นนัก แต่หารู้ไม่ว่าการกินแคลเซียมและวิตามินดีมีส่วนช่วยมากกว่าที่คิด  

เพราะจากศึกษาของคณะผู้วิจัยจาก โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ค้นพบว่า การให้ ’วิตามินดี’ และ ‘แคลเซียมเสริม’ ให้กับผู้สูงอายุ ช่วยลดอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มได้ เนื่องจากลดโอกาสกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุได้ถึง 16% และบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังหักได้ 4% อีกด้วย 

วิธีต่างๆ เหล่านี้หากทุกคนสามารถนำไปปรับใช้เพื่อดูแลคนใกล้ชิด หรือคนที่รักได้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ในระดับประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) สามารถยุติอุบัติการณ์พลัดตกหกล้ม เช่นที่ จ.น่าน ทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว