ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย เดินหน้าเสริมศักยภาพ 17 ชุมชนเขตเมือง หวังสร้างต้นแบบการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ผ่านแนวคิด “การประเมินเพื่อพัฒนา” หรือ “DE” ชี้เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมกลไกการทบทวน-พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ช่วยรับมือความซับซ้อนของปัญหา


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) และสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ด้วยแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation: DE) และ Service Design ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน ในการสร้างนวัตกรรมการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีตัวแทนจาก 17 ชุมชนเขตเมืองเข้าร่วมโครงการ

1

สำหรับกิจกรรมตลอด 3 วัน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ‘ทุนทางสังคม’ รวมถึงเหตุปัจจัยที่จะสนับสนุนในการออกแบบและพัฒนา การจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเขตเมืองโดยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการและรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ พร้อมนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก เปิดเผยตอนหนึ่งถึงนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ด้วยแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (DE) ระบุว่า แนวคิดของ DE ถือเป็นกระบวนการที่มีคุณค่า ในฐานะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ภายใต้เป้าหมายและแนวทางในการบรรลุผลที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดำเนินบนฐานของสิ่งที่ชุมชนเห็นพ้องร่วมกันว่ามีความสำคัญ ก็จะทำให้สามารถดำเนินการต่อได้อย่างยั่งยืน เป็นกระบวนการที่เกิดต่อเนื่อง ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับระยะเวลาของโครงการ

ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ หากตีความคำว่าสุขภาพที่กว้างนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามในการตีโจทย์ระบบสุขภาพชุมชน จะต้องให้ชุมชนเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่เพียงนักวิชาการ ดังนั้น DE จะเป็นกระบวนการที่สร้างให้ชุมชนเกิดกลไกในการเรียนรู้ และเดินหน้ายกระดับเรื่องของสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ ภายใต้องค์ประกอบสนับสนุนในเรื่องของการเก็บรวบรวม บันทึกข้อมูล เพื่อนำมาสู่การประเมินและพัฒนา

2

“ในมุมมองผม คนเป็นเจ้าของโครงการวิจัยนี้คือชุมชน ส่วนภาควิชาการหรือนักวิจัยมีหน้าที่เข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนมีแผนกิจกรรมพัฒนาตนเอง เพราะจุดอ่อนในอดีตที่ผ่านมาคืองานวิจัยมักเป็นประโยชน์ในระดับประเทศ กับภาควิชาการ หรือผู้ประกอบการ แต่ในระดับชาวบ้านกลับไม่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนั้น จึงเกิดแนวคิดวิธีใหม่ของกระบวนการวิจัยที่ดำเนินโดยชาวบ้านและท้องถิ่น ส่วนนักวิจัยหรือทีมพี่เลี้ยงก็ต้องไม่ไปคิดแทนชาวบ้าน แต่มีหน้าที่เข้าไปหนุนให้ชาวบ้านเกิดกระบวนการคิดอย่างจริงจัง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามร่วมกัน ว่าชุมชนต้องการปัจจัยใดบ้างเพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดี เป้าหมายที่ต้องการเป็นอย่างไร จากนั้นจึงกำหนดบทบาทว่าใครจะต้องทำอะไร ให้บรรลุผลเมื่อไร พร้อมกันนั้นจะมีเรื่องสำคัญหรือ Key Result Area อะไรบ้าง ตามด้วยการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้สามารถประเมินผลได้ จนนำมาสู่การกำหนดเป็นแผนการทำงานร่วมกัน ดังนั้นจึงทำให้กระบวนการ DE ไม่ใช่การพูดลอยๆ แต่เป็นการคุยกันอย่างมีความชัดเจน

ศ.นพ.วิจารณ์ ยังกล่าวอีกว่า จุดสำคัญของ DE ยังเป็นระบบการรวบรวมข้อมูล ที่ชุมชนสามารถกลับมาดูและทบทวนเพื่อปรับทิศทางการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมหาศาล ดังนั้น DE จึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือการประเมิน แต่มีเป้าหมายสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำความเข้าใจในเรื่องที่มีความซับซ้อน

2

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และที่ปรึกษาโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวของ สช. กำลังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ด้วยความพยายามออกแบบสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบสุขภาพชุมชน’ โดยใช้กระบวนการ DE ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และมีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันจากปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาใหญ่ ปัญหาใหม่ รวมถึงปัญหาวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนจากโควิด-19 หรือกรณีโรคระบาดต่างๆ ที่การบริการสุขภาพในระบบปกติไม่อาจตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศได้

“ระบบสุขภาพชุมชนนี้ จะมีความแตกต่างจากระบบสุขภาพของภาครัฐที่มีอยู่ ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหม่และอาจยังไม่มีต้นแบบให้เห็น ตอนนี้พวกเราจึงกำลังนำบทเรียนจากที่เผชิญภาวะวิกฤต มาทำให้เกิดเป็นไอเดีย มาสร้างเป็นต้นแบบร่วมกัน ทดสอบระบบสุขภาพชุมชนนี้ให้เกิดขึ้น และขยายผลภายใต้องค์ความรู้ตามบริบทของพื้นที่ ทำให้ตรงนี้กลายเป็นจุดเด่นที่ต่างจากระบบบริการสุขภาพมาตรฐานของภาครัฐ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในแต่ละชุมชนจะมีลักษณะรูปธรรมของปัญหาที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ เช่น ขยะ ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาในมิติทางสังคม ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยระบบสุขภาพเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามหนึ่งในจุดชี้วัดความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง หากเราสามารถทำให้เขาเข้าถึงการแก้ไขปัญหาได้ ก็หมายความว่าคนกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน