ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายคนคงคิดว่าผู้ที่สูญเสียฟัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันเกือบทั้งปาก หากได้รับฟันเทียมแล้วจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้สูญเสียฟันจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับฟันเทียมแล้ว แต่กลับไม่สามารถใส่และใช้ฟันเทียมที่ได้รับมาได้ ประสบปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่ยึดติด บดเคี้ยวอาหารไม่ได้ บางครั้งก็อาจหลุดร่วงจากปากได้ ฟันปลอมที่ได้รับมาจึงถูกถอดและเก็บไว้ในกล่องอย่างดี เหมือนเป็นของที่ระลึกชิ้นหนึ่ง

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะในกรณีที่ผู้ป่วยมีเหงือกที่แบนราบ จนไม่มีสันเหงือกที่ฟันปลอมจะยึดติดได้ หรือใส่ได้ก็หลวมและไม่แน่นกระชับ ทำให้เกิดความรำคาญกับผู้ใส่ และอาจเกิดบาดแผลในช่องปากได้ แทนที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี กลับสร้างปัญหาให้กับผู้สูงอายุได้ ดังนั้นการใส่รากฟันเทียมจึงเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ได้

1

“โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เพิ่มบริการใส่รากฟันเทียมให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่เป็น “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียม ฟันเทียมหลวม ไม่กระชับ หรือไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้ ที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า จำเป็นต้องได้รับการใส่รากฟันเทียม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของจำนวนประชาชนที่รับบริการใส่ฟันเทียมได้เป็นไปตามเป้าหมายโครงการฯ แต่ในส่วนของบริการใส่รากฟันเทียมนั้นพบว่า ยังมีผู้ที่มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการไม่มาก แม้จะผ่านเกณฑ์รับบริการใส่รากฟันเทียมก็ตาม โดยจากการสำรวจความเห็นพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความไม่เข้าใจและยังรู้สึกกลัวที่จะใส่รากฟันเทียม คิดว่าการใส่รากฟันเทียมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ต้องผ่าตัดและมีความเจ็บปวดมาก รวมถึงต้องรับบริการหลายครั้ง 

3ความเป็นจริงแล้วต้องย้ำว่า การใส่รากฟันเทียมนี้ไม่แตกต่างอะไรจากการถอนฟัน หรือผ่าฟันคุดอย่างง่าย โดยผู้ป่วยจะได้รับยาชาก่อน หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการใส่รากฟันเทียม 2 รากที่ขากรรไกร ที่ใช้เวลาไม่นานมากเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็เป็นอันเรียบร้อยดี และเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยก็อาจมีอาการปวดบ้าง แต่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1-2 วันก็หาย   

หลังจากนั้น เป็นการช่วงการรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูก ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ต่อมาจะเป็นการปรับแต่งฟันเทียมเพื่อยึดกับรากฟัน จากนั้นผู้ป่วยก็สามารถใช้ฟันเทียมชุดใหม่นี้ได้ ในระหว่างนี้ก็จะมีการนัดผู้ป่วยมาตรวจรากฟันเทียมที่ใส่ ซึ่งเป็นรากฟันเทียมที่สามารถได้ไปตลอด แต่ในกรณีที่ใส่ฟันเทียมที่ยึดติดกับรากฟันเทียมไประยะหนึ่ง แล้วฟันเทียมที่ใส่เกิดหลวมอีกนั้น จะเป็นการแก้ไขโดยปรับฟันเทียมบริเวณที่ยึดกับรากฟันเท่านั้น 

2

จากข้อมูลข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าการใส่รากฟันเทียมไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุ่งยากหรือน่ากลัวแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้าม เมื่อผู้ป่วยมีรากฟันเทียมที่จะยึดติดฟันเทียมแล้ว จะทำให้ท่านสามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวได้ดี รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หลากหลาย อันนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นการเสริมบุคลิกที่ดีให้กับผู้ป่วยอีกด้วย นับได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ตามมาจากผลของการใส่รากฟันเทียมนี้ จะส่งผลที่ดีต่อผู้ป่วยอย่างมาก 

ส่วนความมั่นใจต่ออุปกรณ์รากฟันเทียมที่นำมาใส่ให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโครงการฯ นั้น เป็นนวัตกรรมรากฟันเทียมที่มาจากฝีมือคนไทย ชื่อรุ่น PRK  ย่อมาจากคำว่า พระรามเก้า มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ากับรากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีผู้ป่วยได้รับการใส่รากฟันเทียมนี้แล้วจำนวน 50,000 คน โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียถัดจากเกาหลีไต้ที่สามารถผลิตรากฟันเทียมได้เอง 

เรื่องของรากฟันเทียม มาถึงตรงนี้สรุปได้ว่า การใส่รากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทั้งส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า โดยผู้ที่สนใจรับบริการรากฟันเทียมภายใต้โครงการฯ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

  1. เป็นผู้ที่ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ฟันเทียมหลวม ไม่กระชับ 
  2. ทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องใส่รากฟันเทียม
  3. เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท เท่านั้น

ทั้งนี้ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านได้รับการใส่ฟันเทียม หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330

2