ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กขป.เขต 7 จับมือ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ปั้นอาสาสมัครจากโรงเรียนผู้สูงอายุ สื่อสารเรื่องสิทธิ ‘บัตรทอง’ สำหรับคนสูงวัย ตั้งเป้าอย่างน้อยต้องมี 25 คนประจำทุกจังหวัด 


คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 7 สานพลังกับเครือข่ายผู้สูงอายุในพื้นที่ พร้อมด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2566 ณ วัดป่าแสงอรุณ จ.ขอนแก่น เพื่อยกระดับกลไกการสื่อสารในประเด็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง สำหรับผู้สูงอายุ พร้อมกับพัฒนาภาคีเครือข่ายอีก 25 คน เป็นอาสาสมัครในการสื่อสารเรื่องสิทธิบัตรทองสำหรับผู้สูงอายุ

นายสุทธินันท์ บุญมี ประธาน กขป.เขต 7 เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop  เพื่อให้ความรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพในสิทธิบัตรทอง

2

ทั้งนี้ พบว่าผู้สูงอายุเรียนรู้และรับทราบถึงสิทธิด้านสุขภาพของตัวเองมากขึ้น พร้อมกับจะส่งต่อความรู้ให้กับเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกันในชุมชน รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ซึ่ง กขป.เขต 7 และภาคีเครือข่าย เห็นว่าต้องสร้างเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุทั้ง 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสาคาม  เพื่อให้มีอาสาสมัครในการสื่อสารเรื่องสิทธิบัตรทองสำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อยจังหวัดละ 25 คน เพื่อสื่อสารถึงสิทธิของผู้สูงอายุในพื้นที่ต่อไป 

นายวีระศักดิ์ ชนะมาร ตัวแทนจาก สปสช.เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุพัฒนากลไกการสื่อสาร เรื่องสิทธิหลักประสุขภาพแห่งชาติผู้สูงอายุ ในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ ในการ รักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุ ได้รับรู้สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ของตนเอง หรือสิทธิ์ของบุคคลในครอบครัว 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการสร้างองค์ความรู้การคุ้มครองสิทธิ์สำหรับผู้สูงอายุ กรณีที่ได้รับความเสียหาย หรือไม่ได้รับความสะดวกต่อการรับบริการสาธารณสุข โดยจะมีช่องทางการสื่อสาร ร้องเรียนหรือร้องทุกข์ไปยังสปสช. เพื่อให้เกิดการเยียวยาและได้รับการช่วยเหลือ 

s

"เราหวังว่าผู้สูงอายุ นอกจากรับรู้สิทธิ์ของตนเองแล้ว ก็สามารถนำความรู้ไปใช้ ดูแลคนในครอบครัว และคนในชุมชน แม้กระทั่งผู้สูงอายุในวันนี้มาจากโรงเรียนผู้สูงอายุของแต่ละพื้นที่ ก็จะได้นำความรู้นี้ไปเผยแพร่ ให้กับผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุต่อไป" นายวีระศักดิ์ กล่าว 

ด้าน นางปราณี คชาธาร รองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลตำบลหนองเรือ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม กล่าวว่า ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนากลไกการสื่อสาร เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพผู้สูงอายุแห่งชาติ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้ ไปใช้ในชุมชนของตัวเอง เพราะตนก็เป็นนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ ของเทศบาลตำบลหนองเรือ จึงอยากนำความรู้ข่าวสารที่ได้ นำไปเผยแพร่ต่อ