ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันสถานการณ์ไตวายเรื้อรังในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลการศึกษาสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 ของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตทั้งหมด

หากคิดออกมาเป็นตัวเลข จะพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังอยู่ที่ราวๆ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 80,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปีๆ 

ล่าสุดปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีความพยายามผลักดันบริการส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ผ่านนโยบาย ‘ทศวรรษของการชะลอโรคไต’

ทางด้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็พร้อมส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติ (APD) ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย

2

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับเครื่อง APD นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายถึงวิธีการบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า มีทั้งหมด 4 รูปแบบ 

คือ 1. การล้างไตทางการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน 3. การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่อง APD และ 4. การปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่สามารถปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้เพียง 600 รายต่อปี 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักได้รับการบำบัดทดแทนไตใน 2 วิธีคือการฟอกเลือดและการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

นพ.จเด็จ ได้อธิบายถึงเครื่อง APD ต่อไปว่า เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติชนิดนี้สามารถใช้ ‘กำลังของเครื่อง’ แทน ‘กำลังของคน’ ในการดันน้ำยาเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย เพื่อแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตกับของเสียจากร่างกายได้อย่างอัตโนมัติ โดยใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงต่อครั้ง ทำให้สามารถระบายของเสียได้มาก โดยอาจจะทำช่วงเวลากลางคืนเพื่อความสะดวกเพราะผู้ป่วยสามารถนอนหลับขณะที่ล้างไตได้ 

สิ่งสำคัญและถือเป็นข้อดีอย่างยิ่งของ APD คือการล้างไตเพียง 1 ครั้งต่อวัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกไปใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้อย่างปกติ ก่อเกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตทั้งตัวของผู้ป่วยเองและผู้ดูแลผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนที่จะได้ใช้ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่อง APD แต่การที่ผู้ป่วยจะสามารถใช้เครื่อง APD ได้อย่างแรกคือ ต้องดูความเหมาะสมหรือไม่

2

เกณฑ์การวัดความเหมาะสม อายุรแพทย์โรคไตมักจะเป็นผู้ดูความเหมาะสม หากคนไข้มีกิจกรรมที่จะต้องทำในช่วงกลางวัน เช่น เรียนหนังสือ หรือทำงานช่วงกลางวัน รวมถึงที่ผู้ป่วยวัยทำงานที่เตรียมปลูกถ่ายไต คนไข้เหล่านี้จะเหมาะต่อการใช้เครื่อง APD ที่สุดเพราะล้างเพียงรอบเดียวต่อวัน 

สิ่งสำคัญคือ ตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลควรมีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้เครื่อง APD ตั้งแต่วิธีการใช้วิธีการดูแลวิธีรักษาความสะอาด ซึ่งก่อนที่ผู้ป่วยจะได้ใช้เครื่อง APD จะต้องเข้ารับการอบรมวิธีการใช้เครื่องก่อน ทางด้านเจ้าหน้าที่ก็จะมีการให้ข้อมูลและสำรวจว่า สถานที่เหมาะสม และมีความสะอาดเพียงพอหรือไม่

สำหรับอัตราการรอดชีวิต จากข้อมูลของ สปสช. อัตราการรอดชีวิตภายใน 10 ปีในแต่ละวิธีการบำบัดทดแทนไตพบว่า หากเปรียบเทียบระหว่างวิธีการฟอกเลือดและล้างไตผ่านทางหน้าท้อง อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่างกันเล็กน้อย ซึ่งทางการแพทย์จะถือว่าไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่การใช้เครื่อง APD จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีกว่าวิธีอื่น รวมถึงความพอใจในการเข้ารับการรักษา APD จะมีมากกว่า CAPD เนื่องจากมีความสะดวกสบายมากกว่า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นภาระกับครอบครัว

ทางด้านภาระงานของเจ้าหน้าที่ นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า เครื่อง APD มีส่วนช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่อยู่บ้างในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะมีภาระงานที่ลดลงหากผู้ป่วยเลือกใช้วิธี APD แทนการฟอกเลือด แต่หากนับเฉพาะวิธีล้างไตผ่านหน้าท้องแบบ CAPD และ APD จะไม่มีผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่มากเท่าใดนัก เนื่องจากการล้างไตทั้ง 2 วิธีจะเป็นตัวของผู้ป่วยและผู้ดูแลเองที่ดำเนินการล้างไต 

3

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า อยากเห็นภาพของผู้ป่วยไตวายที่ลดลง แต่ถ้าลดไม่ได้แล้วลามไปถึงขั้นมีความจำเป็นที่จะต้องบำบัดทดแทนไตไตวายแล้วสิ่งที่อยากเห็นคือ

1. การตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ในการตัดสินใจว่าควรรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการใด โดยมีการบริการให้ความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการบำบัดไตในแต่ละวิธีอย่างเหมาะสมให้ผู้ป่วยและญาติมีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจว่า ควรจะเลือกใช้วิธีใดหรือไม่ควรใช้วิธีใดเลย เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่มีโรคร่วมหลายโรคและมีแนวโน้มถ้าหากทำการบำบัดทดแทนไต เช่น ฟอกเลือด ผู้ป่วยก็มีโอกาสจะเสียชีวิตเร็วขึ้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ 70-80 ปี ฉะนั้น ในการกระบวนการตัดสินใจร่วมกันก็อยากให้เพิ่มความเข้มงวดและความสำคัญของการเข้ารับคำปรึกษามากยิ่งขึ้น

2. เมื่อเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตแล้ว อยากเห็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการโดยวิธีการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เช่น การฟอกเลือดที่ไม่ต้องรอคิวนาน หากใช้เครื่อง APD ก็ต้องเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และมีเครื่องเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันสามารถมั่นใจได้ว่า มีเครื่อง APDเตรียมพร้อมไว้สำหรับในปีหน้าแล้ว สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้องจะต้องมีทีมงานที่ไปเยี่ยมบ้านและดูแลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อหันกลับมามองทางด้านสิทธิประโยชน์ในกองทุนต่างๆ ทุกกองทุนมีล้วนเรื่องของการล้างไตเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการฟอกเลือด ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง หรือการปลูกถ่ายไต แต่อยากจะให้เพิ่มสิทธิการล้างไตด้วยเครื่อง APD ฟรีเข้าไปในสิทธิของหลักประกันสังคม และกองทุนข้าราชการที่ตอนนี้การล้างไตแบบใช้เครื่อง APD ผู้ป่วยยังต้องเช่าเครื่อง หรือซื้อเครื่องเท่านั้น 

“การให้สิทธิฟอกไตด้วยเครื่อง APD ฟรี สมควรที่จะขยายไปในกองทุนอื่นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนในวัยทำงาน  80-90% ซึ่งถ้าหากเวลาทำงานแล้วต้องฟอกไต การที่ใช้วิธีฟอกเลือด (HD) หรือล้างไตผ่านหน้าท้องด้วยตนเอง (CAPD) จะต้องมีการขออนุญาตเพื่อกลับไปฟอกไต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของผู้ป่วยได้ ในอนาคตจึงอยากเห็นนโยบายที่ให้ผู้ป่วยได้ใช้เครื่อง APD ฟรีในทุกกองทุน” นพ.จเด็จ กล่าว