ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โททอลเล่เทเลเมด คิกออฟบริการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป 42 โรคผ่านระบบ tele-medicine เบื้องต้นนำร่องดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ก่อน พร้อมเชิญชวนเข้าเข้ามารับบริการเยอะๆ เพื่อจะได้ขยายการให้บริการไปทั่วประเทศ


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดบริการสุขภาพรูปแบบวิถีใหม่ โดยบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นหนึ่งในบริการวิถีใหม่นี้ มีความสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง และการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ ด้วยผลการตอบรับบริการของประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองนี้ ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้ต่อยอดบริการการแพทย์ทางไกล โดยเพิ่มเติมเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป 42 กลุ่มโรค/อาการ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดให้ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการด้านแอปพลิเคชันสุขภาพ ที่มีศักยภาพ เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโรคทั่วไปที่เป็นสิทธิบัตรทอง โดยเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับทาง สปสช. ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย 

สำหรับ โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันสุขภาพที่ร่วมกับ สปสช. ในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองในช่วงโควิด-19 ก็ได้เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโรคทั่วไปในครั้งนี้ด้วย และเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นอีก 1 ทางเลือกให้กับผู้มีสิทธิบัตรทองในการเข้ารับบริการ  
 
พญ.สมิฏภาฐ์ จงมหาภูดิฏฐ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และผู้บริหารโททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) ผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล (tele-medicine) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โททอลเล่ฯ ได้เริ่มเปิดให้บริการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ผ่านระบบ tele-medicine อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2566 เป็นต้นไปแล้ว เบื้องต้นจะนำร่องให้บริการในพื้นที่ กทม. ก่อน และขอเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้ามารับบริการกันมากๆ เพื่อที่ในอนาคตจะได้ขยายพื้นที่ให้บริการไปยังทั่วประเทศต่อไป

พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าวว่า โททอลเล่ฯ ทำงานร่วมกับ สปสช. มาตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์โอมิครอน โดยจัดบริการดูแลผู้ป่วยทั้งแบบ Home Isolation แบบ tele-medicine และส่งยาให้ที่บ้าน 

4

“จากจุดนั้น สปสช. เห็นถึงประโยชน์ของบริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ารักษาผู้ป่วยหาย คนไข้มีความสุข จึงขยายการดูแลผู้ป่วยในโรคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่เข้าไม่ถึงแพทย์หรืออยู่ห่างไกลโรงพยาบาล โดยมีการนำร่องให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป 42 โรค ในพื้นที่ กทม. ให้ผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งที่มีทะเบียนบ้าน และที่เดินทางเข้ามาอาศัยใน กทม. สามารถใช้บริการพบแพทย์ออนไลน์ได้” พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าว

พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าวว่า โรคที่ให้บริการทาง tele-medicine สปสช. กำหนดไว้ 42 กลุ่มโรค แต่เนื่องจากมีรายละเอียดยิบย่อยจนประชาชนจำได้ไม่หมด ทางโททอลเล่ฯจึงได้ทำการสำรวจการรับรู้ของประชาชนและจัดกลุ่มโรคออกเป็น 7 กลุ่ม เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ประกอบด้วย 1.โควิด-19 2.ไข้ , หวัด 3.เจ็บคอ 4.โรคกระเพาะ 5.อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย 6.ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม กล้ามเนื้อเคล็ด และ 7.แพ้ฝุ่น PM2.5 , ภูมิแพ้อากาศ , ภูมิแพ้ , ผื่นผิวหนัง

5

สำหรับขั้นตอนการรับบริการนั้น ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Totele Telemed มาติดตั้งในมือถือแล้วเข้ารับบริการผ่านแอปฯ หรือหากรู้สึกไม่ถนัดในการใช้งานแอปฯ ก็สามารถแอดไลน์มาที่ @Totale แล้วรับบริการผ่านทางไลน์ก็ได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้แอปฯเลย ก็สามารถโทรมาที่ call center 062-046-2944 และ 061-801-9577 เพื่อรับบริการได้เช่นกัน

พญ.สมิฏภาฐ์ ยกตัวอย่างการรับบริการ เมื่อเข้ามาที่ไลน์ออฟฟิเชียล @Totale แล้ว จะมีเมนู Video Call ให้กดเข้าพบแพทย์ได้ โดยจะมีขั้นตอนการแจ้งข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์สำหรับโทรกลับ รูปถ่ายพร้อมบัตรประชาชน ลักษณะอาการเป็นอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไร ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับให้แพทย์วิเคราะห์และจ่ายยาแก่ผู้ป่วย หรือหากไม่สะดวกทำ Video Call เช่น โทรศัพท์ไม่รองรับ หรืออยู่ในที่ห่างไกล สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ก็สามารถแชทคุยกัน หรือโทรติดต่อ Call Center ก็ได้ หรือฝากหมายเลขโทรศัพท์ให้โทรกลับก็ได้เช่นกัน และหลังจากปรึกษาแพทย์แล้ว โททอลเล่ฯ จะจัดส่งยาให้ถึงบ้านภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งในขั้นตอนนี้ ขอให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่รับบริการถ่ายรูปที่เห็นหน้าตนเองพร้อมถือบัตรประชาชนส่งมายังระบบบริการของโททอลเล่ฯ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการเบิกจ่ายยา และหลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่โททอลเล่ฯ จะโทรติดตามอาการผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

“ลักษณะผู้ป่วยที่เหมาะกับการรับบริการทาง tele-medicine คือผู้ป่วยโรคทั่วไป เป็นการรักษาโรคเบื้องต้น แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุต้องทำหัตถการ เช่น มีแผลต้องเย็บ อาการหนัก หรือเจ็บป่วยในลักษณะที่จำเป็นต้องได้รับการเอ็กซเรย์ หรือ เจ็บป่วยอาการหนัก แบบนี้ก็ต้องไปพบแพทย์ที่คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือโรงพยาบาล แต่หลังจากผ่านการรักษาแล้วต้องการการดูแลต่อเนื่อง ก็สามารถรับบริการทาง tele-medicine เพื่อจัดส่งยาไปให้ที่บ้านได้เช่นกัน” พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าว

พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สะดวกต่อการเดินทาง เข้าถึงแพทย์ลำบาก อย่างไรก็ดี ขณะนี้การจัดบริการยังอยู่ในเฟสของการนำร่อง ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนประชาชนสิทธิบัตรทองที่มีอาการเจ็บป่วยทั่วไป ให้เข้ารับบริการทาง tele-medicine กันให้มากๆ เพราะนอกจากจะมีความสะดวก ประหยัดเวลา ลดการเดินทางไปที่หน่วยบริการแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมบริการ tele-medicine ในภาพรวม ซึ่งหากสามารถดำเนินการในพื้นที่นำร่องได้ประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่ สปสช. จะขยายบริการนี้ไปยังทั่วประเทศ และ รวมทั้งอาจเป็นตัวอย่างให้สิทธิสุขภาพอื่นๆ เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ จัดบริการ tele-medicine ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากสามารถขยายการจัดบริการได้ทั่วประเทศและครอบคลุมสิทธิอื่นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่มีปัญหาการเข้าถึงแพทย์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ