ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. มอบของขวัญปีใหม่ “ดูแลสุขภาพคนไทยสิทธิบัตรทองในต่างประเทศ” ช่วยสร้างความอุ่นใจด้านสุขภาพ ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล 4 แอปพลิเคชันในระบบของ สปสช. เริ่ม 15 ม.ค.67 เป็นต้นไป เน้นให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงใช้หนังสือเดินทางหรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ยืนยันตัวตนใช้สิทธิรับบริการ ประสานกระทรวงการต่างประเทศร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศต่างๆ รับรู้


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบ “แนวทางการจัดระบบบริการเพื่อดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในต่างประเทศผ่านระบบบริการการแพทย์ทางไกล” นำเสนอโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนชาวไทยที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศ 

สำหรับที่มาของการจัดระบบบริการฯ นี้ เนื่องจากมีคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ หรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีส่วนหนึ่งที่เกิดภาวะเจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ แต่ด้วยปัญหาด้านภาษาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์และการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกพัฒนาและมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ และในส่วนของ สปสช. เองก็มีสิทธิประโยชน์นวัตกรรมบริการที่ช่วยเพิ่มการเข้ารับบริการให้ประชาชน อย่างสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในกรณีที่ผู้มีสิทธิบัตรทองมีอาการเจ็บป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illness) สามารถรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันด้านสุขภาพของผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกล 4 แห่ง ที่เป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. ได้ โดยบริการการแพทย์ทางไกลนี้ เป็นการให้บริการผู้ป่วยได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ดังนั้นจึงสามารถที่จะขยายความครอบคลุมเพื่อให้บริการคนไทยในต่างประเทศได้ด้วย สอดคล้องกับมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด ซึ่งรวมถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ 

ที่ผ่านมาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ สปสช. ได้หารือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ โดยขณะนี้ สปสช. ได้ดำเนินการประสานกับผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกลทั้ง 4 แห่งของ สปสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศในรูปแบบบริการการแพทย์ที่ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ประเมินอาการเจ็บป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับคนไทยในต่างประเทศโดยแพทย์ไทย นอกจากนี้ สปสช.ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องความร่วมมือด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางเพื่อให้คนไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ ได้รับทราบสิทธิประโยชน์บริการการแพทย์ทางไกลต่อไป 

“ขณะนี้ระบบการแพทย์ทางไกลเพื่อให้บริการสุขภาพสำหรับคนไทยสิทธิบัตรทองที่ทำงานในต่างประเทศพร้อมแล้ว ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของนโยบาย 30 บาทอัปเกรด” นพ.ชลน่าน กล่าว

1
   
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการนั้นไม่ยุ่งยาก คนไทยที่มีสิทธิบัตรทองซึ่งอยู่ในต่างประเทศสามารถเลือกรับบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการที่ สปสช. กำหนดได้ โดยรับบริการแอปใดแอปหนึ่ง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการใช้สิทธิรับบริการจะใช้เพียงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ และจะได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันมี 4 แอปพลิเคชันที่ร่วมให้บริการกับ สปสช. ประกอบด้วย 

1.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @Sooksabaiclinic ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://telemed.salubermdthai.com/

2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic 

3.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @mordeeapp ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://form.typeform.com/to/qKY8gV4X

และ 4.โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) โดยเดอะโททอลเล่คลินิก สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @totale

“ย้ำว่าบริการนี้จะเป็นการพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อขอรับคำปรึกษาในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความอุ่นใจด้านสุขภาพให้กับคนไทยที่อยู่ในต่างแดนได้ ส่วนเรื่องยานั้น การส่งยาไปจากประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดขัดในด้านกฎหมาย ดังนั้นผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนอาจออกใบสรุปอาการและยาที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ป่วยที่ต้องไปพบบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศนั้นๆ เพื่อรับการดูแลต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว