ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สีขาวนวล 2 ตัว กำลังเดินทักทายบรรดา 'ผู้ที่มาโรงพยาบาล' อย่างเป็นกันเอง

กลางตึกผู้ป่วยนอกของ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี .ปทุมธานี โรงพยาบาลเฉพาะทางที่รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ตอนเช้าๆ เป็นพื้นที่ของทั้งเจ้า "บัดดี้" และ "ข้าวปั้น" สุนัข 2 ตัว ที่ทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาติดต่อโรงพยาบาล เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี และผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย ญาติ ที่ต้องมาติดต่อรักษา หรือรอพบแพทย์

เป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในพื้นที่ของโรงพยาบาล ที่จะมีสุนัขน่ารัก ดูท่าเป็นมิตร หยอกล้อ เล่นกันกับผู้ป่วย สร้างพลังบวกมหาศาล ผ่อนคลายความกังวล ทำให้โรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งนี้ที่รักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ไร้ความเครียดไปเลย

มากไปกว่านั้น บัดดี้ และข้าวปั้น ยังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในช่วงบ่าย ที่จะเยียวยาผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย หรือผู้ป่วยประคับประคอง เข้าไปเล่น ไปให้ผู้ป่วยลูบหัว ปาลูกบอล หรือแม้แต่ให้จูงเดินในสวน

ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นการบำบัดจิตใจของผู้ป่วยระยะท้าย ที่แม้ว่าจะหายจากอาการเจ็บป่วยไม่ได้ แต่ช่วงท้ายของชีวิต พวกเขาจะมีความสุข จิตใจไม่วิตกกังวล และเพิ่มเติมความสุขเข้ามาในตัวเองได้ทุกวัน

ผ่านสุนัขลาบราดอร์ ทั้งสองตัว

The Coverage ไปพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ถึงการใช้ความน่ารักของ ‘น้องหมา’ ในการโอบอุ้มหัวใจของผู้ป่วย

"พวกเขา (สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์) เป็นเจ้าหน้าที่ครับ เป็นเหมือนครอบครัวของโรงพยาบาลเรา ทำหน้าที่ไม่ต่างจากพวกเราเท่าไหร่ คือให้การรักษาทางจิตใจกับผู้ป่วยมะเร็ง" นพ.อดิศัย บอกกับ The Coverage ซึ่งยิ่งทำให้พวกเราสนใจขึ้นมาอีกว่าสุนัข 2 ตัวนี้ เชื่อมต่อได้อย่างไรกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

2

ความเครียดลด-ความสุขเพิ่ม

นพ.อดิศัย ให้ภาพว่า คนไข้มะเร็งเป็นผู้ป่วยที่น่าสงสาร เพราะนอกจากเจ็บป่วยทางร่างกาย มะเร็งยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ ผู้ป่วยหลายคนท้อแท้ สิ้นหวัง การรักษากับร่างกายเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ โรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจ ควบคู่ไปด้วยกัน

นั่นเพราะการรักษาทางจิตใจ มีความสำคัญมากต่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อจิตใจย่ำแย่ หมดกำลังใจ อาการจะส่งผลไปยังร่างกายอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเพิ่มเติมความสุข ความสบายใจเข้าไปด้วย อย่างน้อยที่สุด จะได้ยืดเวลาสุดท้ายของผู้ป่วยมะเร็งไปให้ไกลได้มากที่สุด และผู้ป่วยได้คลายกังวลทุกอย่างออกไป

"เพราะคนไข้เหลือเวลาไม่เยอะ เราต้องการให้คนไข้มีความสุขที่สุด มีคุณค่า และจากไปอย่างสงบ" นพ.อดิศัย กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิราลงกรณธัญบุรี สะท้อนอีกว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะถูกประเมินความเครียดทางด้านจิตใจ ตามเกณฑ์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาสภาพจิตใจ ก็จะใช้การแพทย์ทางเลือก ซึ่งก็คือสุนัขบำบัด หรือศิลปะบำบัด ที่ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ เพื่อให้คลายความเครียดต่างๆ ให้มีความสุขมากขึ้น

จากการประเมินหลังจากที่เราใช้สุนัขบำบัด พบว่า ระดับความสุขเพิ่มขึ้น และระดับความเครียดลดลง เพราะการเล่นกับสุนัขจะทำให้ลืมความไม่สบายใจไปได้ ลืมการเจ็บป่วยได้ด้วย

ขณะเดียวกัน หากผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และต้องการนำสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้มาเยี่ยม มาเล่นด้วย โรงพยาบาลก็อนุญาตเช่นกัน

สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ทั้งคู่ จึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาจิตใจ ที่เรียกว่า 'สัตว์เลี้ยงบำบัด' ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาที่มีการวิจัยมาแล้วจากต่างประเทศว่าได้ผล

2

‘ลาบราดอร์ เป็นสุนัขบำบัดผู้ป่วยโดยเฉพาะ

นพ.อดิศัย บอกอีกว่า หากนับตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการศึกษาจากงานวิจัยของต่างประเทศ และพบว่าสุนัขจะช่วยบำบัดจิตใจของผู้ป่วยได้ ซึ่งสามารถวัดผล "ความสุข" ที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย จึงนำไปสู่การรักษาที่เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลวชิราลงกรณธัญบุรีตั้งแต่นั้นมา และใช้รักษาผู้ป่วยมาถึงปัจจุบัน เพราะผลลัพธ์สะท้อนออกมาดีมาก

ส่วนทำไมต้องเป็นสุนัขสายพันธุ์นี้ เพราะลาบราดอร์ เป็นสุนัขที่ได้รับการวิจัยทดลองเพื่อบำบัดผู้ป่วยโดยเฉพาะ เป็นมิตร ไม่เห่า ไม่เห่า ไม่ทำคนไข้ตกใจ และเข้าสังคมเก่ง สุนัขพันธุ์นี้ก็มีครบถ้วนตามคุณสมบัติ และยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่นำมาบำบัดได้ เช่น สแตนดาร์ดพูดเดิ้ล เป็นต้น แต่ที่โรงพยาบาลวชิราลงกรธัญบุรี เป็นพันธุ์ลาบราดอร์ ซึ่งทั้งบัดดี้ และ ข้าวปั้น เป็นรุ่น 2 แล้วที่เข้ามาทำหน้าที่ช่วยบำบัดผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย

เจ้าหน้าที่ 4 ขาทั้งสอง มีการทำงานตลอด 7 วัน แบ่งหน้าที่ออกเป็น 2 ช่วงเวลา เริ่มจากช่วงเช้าจะไปที่ตึกผู้ป่วยนอก เพื่อต้อนรับผู้ป่วย ญาติ ที่มาติดต่อกับโรงพยาบาล จากนั้นเมื่อถึงช่วงเที่ยงจะได้พัก 1 ชั่วโมง ก่อนที่บ่ายโมงตรง จะมายังตึกผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ที่มีผู้ป่วยทั้งหมด 10 เตียง เพื่อคอยไปเล่นกับผู้ป่วยตลอดทั้งช่วงบ่ายถึงสี่โมงเย็น คนละ 1 ชั่วโมง

ผู้ป่วยสามารถเจอทั้ง "บัดดี้" และ "ข้าวปั้น" ได้ทุกวัน

2

สิ่งสำคัญคือการดูแลทั้งคู่ ที่จะมีพี่เลี้ยงประจำทำหน้าที่คอยดูแลพวกเขา ซึ่งก็เปรียบเสมือนพ่อแม่ของสุนัข ทำหน้าที่ทำความสะอาด อาบน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เช็ดตัว 2 รอบต่อวัน ฉีดยาตามกำหนด ขณะเดียวกันพื้นที่อยู่อาศัยก็ยังพร้อมเต็มที่เพื่อไม่ให้พวกเขาเครียด มีการติดตั้งแอร์ พัดลม และมีสนามหญ้าให้พวกเขาวิ่งเล่นในช่วงเย็นหลังจากเลิกงาน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวอีกว่า ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ของการใช้สุนัขบำบัดผู้ป่วยมะเร็งในบ้านเรา แต่ต่างประเทศมีการใช้เป็นทางเลือกอย่างแพร่หลาย กระนั้นก็ทำให้มีโรงพยาบาลหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศที่พอทราบข่าว ติดต่อขอเข้ามาเพื่อศึกษาดูงานกระบวนการนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง โรงพยาบาลวชิราลงกรณธัญบุรี จึงมีอีกหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยสูงสุด

"ในประเทศเรา การใช้สุนัขบำบัดยังมีน้อยอยู่ อาจมีไม่ถึง 10 แห่ง อาจเพราะต้องมีงบประมาณ มีการดูแล และมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องคอยดูแลเขา (สุนัข) ทุกวัน แต่การให้บริการนี้ของเรา เราไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่หากมีการพัฒนาไปสู่การให้เป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง หรือต่อยอดจากสุนัขบำบัดไปได้ ก็น่าจะทำให้เกิดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยในภาพรวมมากขึ้น" นพ.อดิศัย ย้ำ

นพ.อดิศัย ให้มุมมองอีกว่า ความสุขที่เกิดขึ้นวัดได้จากค่ามาตรฐานของกรมสุขภาพจิต ที่เป็นตัวเลขอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นหลังจากเลือกการบำบัดด้วยสุนัข ขณะเดียวกัน พันธุ์ของสุนัขอย่างลาบราดอร์ ที่เป็นมิตรกับผู้คน และยังมีพฤติกรรมที่ชอบเข้าสังคม สุนัขก็จะมีความสุขไปด้วยเช่นกัน โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จึงเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลาง ที่นำความสุขของผู้ป่วยและสุนัขมาเชื่อมเข้าหากัน

"สุนัขบำบัดคือการแพทย์ทางเลือกแบบหนึ่ง ที่ยังมีอีกหลายรูปแบบในการนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง แต่เมื่อเรานำกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ ที่ต่างประเทศใช้มานานแล้ว และนำมาใช้กับผู้ป่วยของเรา การตอบรับ หรือความรู้สึกดีๆ จากการสังเกต และการประเมิน ก็ชัดเจน ทั้งสีหน้าที่สดชื่นขึ้น ดูมีกำลังใจขึ้น และแบบประเมินยิ่งย้ำว่าได้ผลดีจริงๆ" นพ.อดิศัย กล่าวตอนท้าย