ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านไปล่าสุดกับการประชุมวิชาการด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคอีกหนึ่งเวทีใหญ่อย่าง การประชุมพันธมิตรกำลังคนด้านสุขภาพภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Action Alliance on Human Resources for Health (AAAH) ซึ่งจัดมาเป็นครั้งที่ 12 เมื่อระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. 2566 โดยมีสมาชิกจำนวน 18 ประเทศเข้าร่วมประชุม

นอกจากวงประชุมที่มีเป้าหมายเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ในการพัฒนาศักยภาพของประเทศต่างๆ เรื่องการวางแผนและบริหารจัดการ “กำลังคนด้านสุขภาพ” แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน ยังเป็นการมอบรางวัล “AAAH Award 2023” ซึ่งเป็นรางวัลระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเชิดชูบุคลากรที่มีความทุ่มเทและมีผลงานโดดเด่นในงานกำลังคนด้านสุขภาพ ประกอบด้วย ด้านการแพทย์ ด้านการพยาบาล และด้านสายสุขภาพอื่นๆ

ท่ามกลางผู้แทนจากภูมิภาคต่างๆ ที่ถูกเสนอรายชื่อเข้ามาเป็นจำนวนมากในปีนี้ ฟากฝั่งของประเทศไทยได้มีชื่อของ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ที่กลายเป็นผู้ได้รับรางวัล AAAH Award ด้านการแพทย์ ด้วยผลงานเด่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูลด้านสุขภาพ

หลายคนอาจเคยคุ้นชื่อของ นพ.อนุกูล ในฐานะของผู้อำนวยการ ที่ผ่านประสบการณ์บริหารจัดการมาแล้วหลายโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเป็นผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร และหนึ่งในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากอย่าง จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงปลายปี 2563 จนผ่านพ้นวิกฤตขณะนั้นมาได้

แน่นอนว่าผลงานของ นพ.อนุกูล ไม่ได้มีความน่าสนใจเฉพาะในแง่ของการบริหารจัดการโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแนวคิดการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในอีกหลายมิติด้านสุขภาพ นั่นจึงกลายเป็นโอกาสอันดีเมื่อ The Coverage ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับอาจารย์แพทย์รายนี้ ถึงแนวคิดและกระบวนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา

จาก หมอสายตา สู่นักพัฒนาโปรแกรม

หากเอ่ยถึงผลงานเด่นของ นพ.อนุกูล ซึ่งมีอยู่มากมายที่เป็นการนำระบบไอทีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมพัฒนาระบบ MOPH Connect ที่ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว, การบริหารจัดการข้อมูลคลังเวชภัณฑ์และเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ Smart Inventory, การร่วมพัฒนาระบบ iClaim อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้า ตลอดจนการร่วมพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนด้วย Full Time Equivalent, Population based และ Service based ให้กับโรงพยาบาลกว่า 800 แห่ง

ทั้งนี้ เขายอมรับว่าแม้ตนเองจะไม่ได้เก่งหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านไอที แต่ก็รู้ดีว่าการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ กำลังเป็นทิศทางที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นย่อมเจอปัญหาที่ไม่สามารถรับมือกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น หรือยากต่อการบริหารจัดการที่ต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายอะไรต่างๆ ได้

นพ.อนุกูล เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงแรกที่ทำงานในฐานะจักษุแพทย์ ซึ่งพบว่าประเทศไทยยังมีผู้ป่วยตาบอดอยู่จำนวนมาก อันมาจากการเข้าไม่ถึงบริการ เนื่องด้วยจำนวนจักษุแพทย์ที่มีอยู่ไม่มาก ทำให้การตรวจสายตาของผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเดินทางเข้ามาพบจักษุแพทย์ ที่ส่วนใหญ่มีอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลจังหวัด จึงทำให้จักษุแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้เฉพาะในส่วนที่สามารถเข้าถึงระบบบริการเท่านั้น

“ตอนนั้นเรามีความตั้งใจที่จะกำจัดโรคตาบอดในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของต้อกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่ง จึงสร้าง Service Plan โดยการให้ อสม. ทั้งประเทศทำการสำรวจผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คัดกรองด้วยการยืนนับนิ้วที่ระยะ 3 เมตร หากนับไม่ได้ให้สงสัยว่ามีอาการ แล้วส่งต่อมาที่โรงพยาบาลเพื่อให้พบกับจักษุแพทย์ แต่ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ได้ว่าคนไข้มาหรือเปล่า หรือมาตรวจแล้วเป็นอย่างไร จึงเกิดการนำเอาระบบไอทีเข้ามาช่วย” นพ.อนุกูล เล่าถึงช่วงแรกๆ ของการพัฒนางานด้วยระบบไอที

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นโปรแกรม vision2020thailand.org ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในทั่วประเทศ เป็นฐานข้อมูลของการระบุจำนวนได้ถึงในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ว่าพื้นที่ใดมีผู้สูงอายุที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปคัดกรองแล้วมีอาการตาบอด และเข้าสู่ระบบการรักษาไปได้แล้วเพียงใด จนปัจจุบันได้มีการขยับต่อยอดมาสู่กิจกรรมเด็กไทยสายตาดี ซึ่งคัดกรองอาการสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ของเด็กตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 เพื่อเข้าสู่การแก้ไขด้วยแว่นสายตา

เมื่อเข้าสู่ยุคที่ นพ.อนุกูล ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในขณะนั้นพบว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีปัญหาในการขอตำแหน่งข้าราชการจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เนื่องด้วยยังมีข้อสงสัยว่า สธ. ขาดคนจริงหรือไม่ ขาดที่ไหนจำนวนเท่าไร หรือวิชาชีพใดขาดอยู่เท่าไร แต่โรงพยาบาลทั่วทั้งประเทศกว่า 900 แห่ง กลับไม่มีคำตอบให้ในเรื่องนี้

ตอนนั้นเราบอกได้แค่ว่ามีจำนวนบุคลากรต่อประชากรเท่าไร เช่น 1 ต่อ 1,500 หรือ 1 ต่อ 10,000 ซึ่งเขาไม่เชื่อตัวเลขอัตราส่วนนี้ แต่ต้องการข้อมูลตามภาระงาน จึงกลายเป็นโจทย์ที่เราต้องมาคำนวณกรอบอัตรากำลังตามภาระงาน เป็นรายโรงพยาบาล รายวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงฯ ยังไม่เคยทำ แล้วต้องมาทำภายในระยะเวลา 2 เดือน จึงจำเป็นต้องนำระบบไอทีเข้ามาช่วย

จากนั้นจึงเกิดการพัฒนาโปรแกรมเพื่อคำนวณกรอบอัตรากำลังรายโรงพยาบาล จนทำให้สำนักงาน ก.พ. สามารถปล่อยตำแหน่งให้กับ สธ. และภายหลังจากนั้นโปรแกรมดังกล่าวก็ถูกพัฒนาต่อไปใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารกำลังคนของ สธ. เพื่อใช้ในการเฉลี่ยอัตรากำลังระหว่างจุดที่ขาด และจุดที่เกินได้

นอกจากนี้ นพ.อนุกูล ยังได้มีส่วนในการนำระบบไอทีเข้ามาพัฒนาการบริการ จากกรณีปัญหาที่พบว่าผู้ป่วยต้องมารอรับบริการที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทาง สธ. จึงมีแนวความคิดในการพัฒนาระบบจัดคิวออนไลน์ เหลื่อมเวลา ที่ผู้ป่วยสามารถรู้คิวตั้งแต่อยู่ที่บ้าน โดยไม่ต้องรีบมารอที่โรงพยาบาล และกลายเป็นแพลทฟอร์ม MOPH Connect ของ สธ. ที่ช่วยลดระยะเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลลง

สำหรับระบบนี้ได้ถูกนำไปทดลองใช้ที่โรงพยาบาลปทุมธานีเป็นแห่งแรก ในช่วงที่ นพ.อนุกูล เป็นผู้อำนวยการ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะถูกต่อยอดเป็นระบบ iClaim เพื่อช่วยในการเรียกเก็บค่ารักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพ โดยใช้ระบบไอทีในการเชื่อมต่อ

1

พัฒนาฐานข้อมูล เชื่อมต่อระบบสุขภาพ

นพ.อนุกูล ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การที่ตัวเขาไม่ได้เรียนจบหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไอทีโดยตรง แต่ในฐานะคนทำงานที่อยู่หน้างานย่อมรู้ดีถึงปัญหา หรือ “Pain Point” ว่าต้องการอะไร ในขณะเดียวกันเมื่อต้องอาศัยทักษะของอีกฝ่ายหนึ่ง คือกลุ่มคนทำงานด้านไอที ที่มีความสามารถในด้านการเขียนโปรแกรม เขามองว่าสิ่งสำคัญจึงเป็นข้อต่อตรงกลาง หรือผู้ที่จะทำการวิเคราะห์ระบบและสามารถสื่อสารกับฝ่ายไอทีได้อย่างเข้าใจ เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมได้สำเร็จ และ “นพ.อนุกูล” ก็คือหนึ่งในข้อต่อกลางนี้

ในทุกการทำงานมันจะมีปัญหาหรือสิ่งที่เราอยากพัฒนา แต่มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ด้วยระบบไอทีทุกเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องของคน บางเรื่องเป็นเรื่องโครงสร้าง ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริหารจัดการที่ต้องการธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กรณีเหล่านี้ระบบไอทีจะมีส่วนสำคัญมาก และช่วยทำให้ทุกคนเห็นได้ว่าในการตัดสินใจทุกครั้ง มันมีเหตุผลอะไรประกอบ

อาจารย์แพทย์รายนี้ วิเคราะห์ต่อว่า ปัจจุบันทุกหน่วยบริการสุขภาพล้วนมีระบบสารสนเทศในโรงพยาบาล (HIS) คือมีการใช้ระบบไอทีของตนเองอยู่แล้ว แต่การที่ข้อมูลเหล่านี้อยู่กับที่ใดแห่งเดียวย่อมไม่ทรงพลัง และไม่สามารถนำไปสู่การจัดการเชิงนโยบาย หรือนำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ เพราะฉะนั้นเขามองว่าสิ่งสำคัญจึงเป็นการ “เชื่อมต่อข้อมูล” ระหว่างกัน

แน่นอนว่าเรื่องนี้เองเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คือการที่หน่วยบริการต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศระหว่างกัน บนหลักการสำคัญคือข้อมูลทั้งหมดจะต้อง “เป็นของผู้ป่วย” ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนได้เมื่อจำเป็น หรือเมื่อที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม นพ.อนุกูล มองว่าเมื่อแต่ละโรงพยาบาลมีระบบ HIS ของตนเอง การเชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกันทั้งหมดจึงไม่ง่าย ดังนั้นทาง สธ. เองจึงอาจจะไม่ต้องมุ่งเน้นการใช้โปรแกรมเดียวกัน แต่หันมาเน้นในเรื่องมาตรฐานของข้อมูลที่ต้องตรงกัน หรือ Standard Code ที่สอดคล้องและสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกันได้

“เชื่อว่าตอนนี้กระทรวงฯ เองก็เดินมาถูกทาง ในการมุ่งเน้นไปที่มาตรฐานข้อมูลกลาง ซึ่งต่อไปถ้าฐานข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้จริง มันก็จะกลายเป็นระบบข้อมูลสุขภาพของคนไข้ที่พกพาไปที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปนั่งรอขอประวัติอีก คนไข้สามารถเปิดดูของตัวเอง หรือนำไปให้แพทย์ท่านอื่นดู ไปปรึกษาได้ แต่ทั้งนี้หากเมื่อไรที่ระบบมีการเชื่อมโยงกันแล้ว แม้จะช่วยเพิ่มความสะดวก แต่ก็ตามด้วยความรับผิดชอบ ทั้งเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล Cyber Security ต่างๆ รวมถึงเรื่องกฎหมาย PDPA” นพ.อนุกูล ให้หลักการ

2

ใช้ระบบไอทีแก้ปมปัญหา กรอบอัตรากำลัง

เมื่อพูดถึงกรอบอัตรากำลังด้านสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเป็นประเด็นปัญหาที่จำนวนบุคลากรในหลายสาขามีไม่เพียงพอ แน่นอนว่าในทางหนึ่งนอกจากการผลิตและเติมบุคลากรให้เพียงพอแล้ว นพ.อนุกูล เชื่อว่ายังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถช่วยได้โดยการนำระบบไอทีเข้ามาใช้

เขายกตัวอย่างในแง่ของการนำระบบไอทีและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จากเดิมที่ผลตรวจเลือดของผู้ป่วยแต่ละรายจะใช้ระยะเวลานาน แต่ปัจจุบันมีเครื่องมืออัตโนมัติ ที่จะช่วยลดระยะเวลาและกำลังคนอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถนำมาช่วยลดกำลังคนที่กำลังขาดแคลนอยู่ในบางงานได้

ในอีกแง่หนึ่งคือการนำระบบไอที เข้ามาวิเคราะห์ฐานข้อมูลกำลังคน ว่าในภาระงานขณะนี้จำเป็นต้องมีบุคลากรเพิ่มในจุดใด รวมทั้งยังสามารถพยากรณ์ไปถึงภาระงานในอนาคตข้างหน้า ว่ากำลังจะมีภาระงานเพิ่มขึ้นในด้านใดบ้าง แล้วนำมาประเมินกำลังคนที่มีอยู่ กับกำลังคนในส่วนที่ขาด อันจะเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับ และมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำเรื่องขออัตรากำลังเพิ่มได้

นอกจากนี้เมื่อได้อัตรากำลังมาแล้ว ระบบไอทียังจะช่วยในการวิเคราะห์ได้ว่าเราจะจัดสรรอย่างไร เพราะถ้าหารคนเพิ่มให้ทุกจุดเท่ากันหมด มันก็อาจไม่ใช่ แต่ถ้าเราเอากรอบที่เราคิดว่าควรจะมี กับคนที่มีอยู่ กับภาระงานปัจจุบัน ทั้งหมดมาประกอบกัน ก็จะเป็นการจัดสรรที่เป็นธรรม ได้รับการยอมรับ ดังนั้นเราจึงสามารถเอาระบบข้อมูลต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ได้หลายเรื่อง

เขายังวิเคราะห์ด้วยว่า ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลของ สธ. พัฒนาขึ้นมาได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่ยังมีในส่วนข้อมูลปลายทางที่การอัพเดทอาจยังไม่เป็นปัจจุบัน (เรียลไทม์) มากนัก อย่างไรก็ตามข้อมูลปัจจุบันก็นับว่ามีความน่าเชื่อถือกว่าในอดีตเยอะมาก ซึ่งจุดนี้ทำให้กระทรวงฯ สามารถบริหารจัดการกำลังคนได้สะดวกและง่ายขึ้นมาก

“เราสามารถบริหารจัดการคนในระดับต่างๆ ไม่ว่าในระดับกระทรวง ระดับเขต หรือจังหวัดได้ดีขึ้น ด้วยการใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาร่วมกับบริบทอื่นๆ ของพื้นที่ อย่างเช่นในแต่ละเขต อาจมีบางจังหวัดที่ต้องเติมคนมากกว่าที่อื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษที่จำเป็นต้องเติมบุคลากรด้านนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นบริบทของเขตที่สามารถทำต่อได้นอกเหนือจากกรอบที่กระทรวงฯ กำหนด ซึ่งถ้าเราเริ่มด้วยการมีฐานข้อมูลที่ดี เราก็สามารถต่อยอดอะไรต่อไปได้ทั้งหมด” นพ.อนุกูล ทิ้งท้าย