ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลรัฐ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความหนาแน่นและแออัดสูงมากแห่งหนึ่ง เนื่องด้วยจำนวนผู้ใช้บริการต่อวันที่มีจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดการ “รอ” เพื่อเข้ารับบริการที่นานแสนนาน ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ความแออัดเหล่านั้นก็ยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อมากขึ้นไปอีก

การแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ก็คงจะเป็นเรื่องของการขยายขนาดของโรงพยาบาล ทั้งในแง่สถานที่และบุคคลากร แต่มันก็ไม่ใช้เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ดังนั้น การแสวงหาวิธีอื่นมาช่วยลดความหนาแน่นและแออัดจึงจำเป็น และในช่วงเวลานี้ก็คงหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีมาใช้

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทำให้มีการเกิดขึ้นของแอปลิเคชัน ชื่อว่า ฮุกกะ (Hygge Medical Service – Hygge) โดยทีมฝ่าย IT โรงพยาบาลราชบุรี และนำฮุกกะมาใช้ช่วยเหลือการบริหารจัดการภารกิจในโรงพยาบาลทั้งฝั่งบุคลลากรทางการแพทย์เอง และฝั่งผู้รับบริการ ตั้งแต่การจัดระบบคิว ไปจนถึงเรื่องของเวชระเบียนออนไลน์

The Coverage ได้พูดคุยกับ กิตติ ลิ้มทรงธรรม หัวหน้างานไอที โรงพยาบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี ประจำเขตสุขภาพที่ 5 ถึงความสำเร็จของ “ฮุกกะ” ที่เกิดขึ้น

กิตติ บอกว่า “ฮุกกะ” จะเป็นตัวกลางให้คนไข้กดจองคิว และสามารถประมาณการหรือแจ้งเตือนคนไข้ได้ว่าจะถึงคิวหรือยัง นั่นทำให้คนไข้ที่มารอคิวรับบริการไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล คนไข้สามารถที่จะไปพักผ่อนหรือจัดการเรื่องใดๆ ก่อน แล้วค่อยมาที่โรงพยาบาลเมื่อถึงคิว

ไม่ต้องเสียเวลานั่งรอเรียกตรวจอีกต่อไป

กิตติ เล่าว่า เริ่มแรกนั้น “ฮุกกะ” เกิดจากการรวมตัวกันของทีมโปรแกรมเมอร์ของโรงพยาบาลราชบุรีที่เห็นปัญหาของระบบการจัดลำดับคิวในโรงพยาบาลรัฐ จึงได้ทำการเขียนโปรแกรมบริหารจัดการระบบคิวนำมาช่วยลดความแออัดและความหนาแน่นของคนไข้

ด้วยปัญหาสำคัญที่ว่า โรงพยาบาลรัฐนั้นมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือในการบริหารจัดการค่อนข้างน้อย และเมื่อต้องการจะใช้ขึ้นมาก็ต้องไปซื้อหรือจ้างเอกชนมาเขียนโปรแกรมในราคาที่สูง ดังนั้นหลังจากฮุกกะเริ่มใช้ในโรงพยาบาลราชบุรี ทีมพัฒนาก็ได้เปิดให้เครือข่ายโรงพยาบาลรัฐสามารถนำระบบไปใช้ได้อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย

ฮุกกะจะเป็นตัวกลางให้คนไข้กดจองคิว และสามารถประมาณการหรือแจ้งเตือนคนไข้ได้ว่าจะถึงคิวหรือยัง นั่นทำให้คนไข้ที่มารอคิวรับบริการไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล คนไข้สามารถที่จะไปพักผ่อนหรือจัดการเรื่องใดๆ ก่อน แล้วค่อยมาที่โรงพยาบาลเมื่อถึงคิว

ผลตอบรับของฮุกกะในโรงพยาบาลต่างๆ นั้นค่อนข้างดีมาก แต่ละที่สามารถนำไปใช้บริหารจัดการระบบคิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความแออัดได้จริง และด้วยความสำเร็จนี้ ฮุกกะจึงถูกพัฒนาต่อเพื่อขยายขีดความสามารถของระบบให้ช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้น และไปให้ไกลกว่าเป็นระบบจัดการคิว

กิตติ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลรัฐกว่า 79 แห่ง ใน 31จังหวัด อยู่ในระบบของฮุกกะ และปี 2564 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 คาดว่าฮุกกะจะครอบคลุมโรงพยาบาลในจำนวนหลักร้อยได้

ความสำเร็จของฮุกกะ ยังนำมาซึ่งรางวัลนวัตกรรมซอฟต์แวร์ จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รางวัล Smart Hospital และรางวัลรองชนะเลิศ R2R Future Health Care

ไม่ใช่แค่จัดคิว แต่มันคือเวชระเบียนออนไลน์

แท้ที่จริงแล้ว “ฮุกกะ” ไม่ใช่เพียงแค่ระบบนัดคิวเท่านั้น แต่บทบาทสำคัญของ “ฮุกกะ” ที่กำลังเข้ามาปฏิวัติวงการสาธารณสุขและการให้บริการประชาชน ก็คือการเป็น เวชระเบียนออนไลน์

กิตติ เล่าว่า ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่สำคัญของฮุกกะคือการเป็น “เวชระเบียนออนไลน์” ของคนไข้ (Personal Health Record – PHR) ที่สามารถให้คนไข้ถือติดตัวไปได้ในทุกที่ ผ่านระบบแอปลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในนั้นก็จะมีข้อมูลท้างด้านสุขภาพและการแพทย์ทั้งหมด ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล น้ำหนัก ส่วนสูง ประวัติการใช้/แพ้ยา หรือแม้กระทั่งผลอ่านรังสีหรือผลตรวจจากห้องทดลอง รวมไว้ในที่เดียว

นี่จะเป็นการทำให้คนไข้สะดวกมากขึ้น เพราะว่ามีข้อมูลอยู่กับตัวตลอด ดังนั้นถ้าลืมว่าตนต้องรับยาอะไร ก็สามารถเปิดดูได้และนำข้อมูลตรงนี้ไปแจงกับเภสัชกรร้านขายยาได้ หรือการไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้วที่จะต้องขอเวชระเบียนจากโรงพยาบาลเดิมไปด้วย

สามารถนำข้อมูลในระบบฮุกกะให้กับโรงพยาบาลอีกแห่งดูได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคนไข้เข้ารับการรักษาในหลายโรงพยาบาล ข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลก็จะมารวมกันอยู่ในระบบฮุกกะ ไม่ต้องเกิดการแยกเวชระเบียนแม้แต่น้อย

กิตติ ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงแรกของการนำฮุกกะมาใช้ก็พบเจอกับอุปสรรคอยู่บ้าง ด้วยความที่คนไข้จำนวนมากที่มาใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐนั้นเป็นผู้สูงอายุ ทำให้มีความไม่เข้าใจวิธีการใช้งานเทคโนโลยีมากพอสมควร เพื่อแก้ปัญหานี้ทีมพัฒนาก็ทำการปรับปรุงระบบเรื่อยมา เช่นการนำระบบฮุกกะไปเชื่อมกับ “Line Official” (Line OA) ที่ผู้สูงอายุมีความคุ้นเคยมากกว่า และเพิ่มช่องทางในการจัดการข้อมูลผ่านระบบเว็บไซต์ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนสามารถรับบริการจากฮุกกะได้สะดวกขึ้น

ฮุกกะ กับ โควิด-19

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 “ฮุกกะ” ได้ฉายศักยภาพของตัวเองออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง ด้วยมีจุดเด่นคือสามารถช่วยลดความเสี่ยงและความแออัด ที่จะช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อได้

แต่ที่เด่นไปกว่านั้น ก็คือ “ฮุกกะ” ถูกออกแบบให้เหมือนเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ คนไข้สามารถติดตามสถานะของยาได้ง่ายเหมือนสั่งของทั่วไป

นี่ยังรวมถึงสามารถให้แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร สามารถ Work from home ได้ เพราะบุคคลากรทางการแพทย์สามารถจัดการงานเหล่านี้ผ่านระบบฮุกกะได้เช่นกัน

กิตติ บอกว่า การที่ฮุกกะเองเริ่มแรกเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการคิวและจัดการระบบนัดหมาย ทำให้ช่วงมีโควิด-19 ระบาด ความสามารถนี้จึงยิ่งสำคัญ เพราะช่วยทำให้การบริหารจัดการโรงพยาบาลง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงและแออัดอันนำไปสู่การแพร่ระบาดได้ ประชาชนสามารถนัดแพทย์ได้ผ่านระบบออนไลน์ และมาโรงพยาบาลเมื่อถึงลำดับเรียก ไม่ต้องเสี่ยงอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลนานเกินไป

นอกจากนี้ “ฮุกกะ” ก็ยังช่วยบริหารจัดการเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวกับโควิดอีกด้วย เช่นมีระบบให้จองฉีดวัคซีน มีระบบข้อมูล Vaccine Passport หรือกระทั่งการวิเคราะห์สถิติความหนาแน่นของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ ของโรงพยาบาล เพื่อที่จะสามารถให้ทางโรงพยาบาลนำไปปรับการบริการให้ได้ตามนโยบาย Covid Free Setting ของรัฐบาล

ฮุกกะ ยังมีระบบที่สามารถรับรองการคัดกรองและสอบสวนโรคได้อีกด้วย เพื่อลดภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ โดยมีระบบให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถที่จะกรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงของตนเองส่งตรงเข้าไปยังระบบ ระบบของฮุกกะก็จะประมวลผลและแจ้งว่าในแต่ผู้คนที่กรอกข้อมูลเข้ามา คนใดมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เป็นการช่วยคัดกรองให้กับเจ้าหน้าที่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะจัดลำดับการบริหารจัดการตามการคัดกรอง ไม่จำเป็นต้องทำทีละคน จำนวนมากๆ ในครั้งเดียว

ก้าวต่อไปของฮุกกะ

นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การต่อยอด จนถึงขณะนี้ “ฮุกกะ” ยังได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

กิตติ เล่าว่า ความหวังในอนาคตของฮุกกะ คือการจะได้เป็น “Hospital Information Exchange” (HIE) ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยบริการในระบบเข้าด้วยกัน และใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน โดยจะเริ่มนำร่องในหน่วยงานของเขตสุขภาพที่ 5 (กาญจนบุรี, นครปฐม, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร) ในปี2565 ทั้งสิ้น 67 โรงพยาบาล และ 912 โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ทั้งหมดเชื่อม HIE เข้าด้วยกัน

การเชื่อม HIE เข้าด้วยกันนั้น จะทำให้เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่ใดก็ตามแต่ ฮุกกะจะดึงข้อมูลทั้งหมดของคนไข้ที่มีจากทุกโรงพยาบาลมาแสดงรวมไว้ที่โรงพยาบาลที่คนไข้เข้ารับบริการ ไม่ต้องใช้แอปลิเคชันของคนไข้ ไม่ต้องถือหนังสือส่งตัว ไม่ต้องทำประวัติใหม่

นอกจาก HIE แล้ว ฮุกกะก็ตั้งเป้าในการสร้างระบบโทรเวชกรรม (Telemed) ของตัวเอง แต่จะเป็น Telemed ที่แตกต่างจากแบบอื่น

เพราะโดยปกติ Telemed มักจะเป็นเรื่องการนัดหมายพบแพทย์ของคนไข้ แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ บางครั้งแพทย์พร้อม คนไข้ไม่พร้อม หรือคนไข้พร้อม แพทย์ไม่พร้อม ยังมีเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน

แต่ระบบของฮุกกะ จะเป็นระบบที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยคนไข้สามารถไปที่ทำการ รพ.สต. และให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการให้ได้ ที่สำคัญก็คือ Telemed ของฮุกกะจะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่อย่างจำกัดได้โดยตรง จะไม่เป็นเพียงแค่การพบแพทย์ทั่วไป และการพบแพทย์เฉพาะทางก็จะไม่ต้องกระจุกตัวอยู่เพียงแค่โรงพยาบาลขนาดใหญ่เหมือนเคย

ความตั้งใจหลักของเราคือการที่จะช่วยทั้งสองฝั่ง ช่วยคนไข้ให้สะดวกมากขึ้น และช่วยเจ้าหน้าที่ ลดภาระและไม่เพิ่มงานให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริการงานสาธารณสุขมากที่สุด