ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยทีดีอาร์ไอแนะ สปสช. ใช้ 3D Digitalozation Data-Driven และ Diligence เป็นแนวทางขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต


ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวบรรยายหัวข้อ “ทิศทางการเงินการคลังสุขภาพในการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2022 เมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่า ทีดีอาร์ไอเคยทำการศึกษาคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพ โดยใช้ฉากทัศน์การเป็นสังคมสูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นกรณีที่รัฐไม่มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย จะมีค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพประมาณ 2.13 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพี และในกรณีที่รัฐมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย คาดว่าค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพจะลดลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ แต่ประเด็นคือเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน และเมื่อวิเคราะห์หนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่ำหรือหนี้สูง ก็พบว่าประชาชนก็ได้รับผลกระทบหมด

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวต่อไปว่า  ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น สปสช. ถือเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพของประชากรในประเทศ ดังนั้น สิ่งที่น่าจะขับเคลื่อนในอนาคตมีอยู่ 3 อย่าง หรือ 3D คือ 1. Digitalozation หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้านสุขภาพ เช่น การรักษา การบริหารจัดการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

1

2. Data-Driven สปสช. มีข้อมูลเยอะมาก การตัดสินใจใดๆ ควรเป็นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก และ 3. Diligence มุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ตนมองว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยมี Duty of care โดยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ดังนั้น สปสช. จึงมีหน้าที่ทำให้ Duty of care นี้มีความชัดเจนและเดินหน้าต่อได้

“ที่สำคัญ กลุ่ม NCDs น่าจะเป็นกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ สปสช.ต้องให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้มาตรการป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะเดียวกันก็ต้องลดการรักษาที่ไม่จำเป็น เพราะตัวเลขค่าความยืดหยุ่นของค่ารักษาพยาบาลต่อรายได้ของประเทศไทยอยู่ที่ 1.29-1.3 หมายถึงบางครั้งเราใช้บริการเกินความจำเป็น (unnecessaries care) เช่น การรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งคิดค่ารักษาแพง เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมระบบบริการปฐมภูมิ เช่น การสนับสนุนคลินิกในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในกทม. และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการนำใบสั่งยาจากหมอไปซื้อที่ร้านขายยา”ดร.ณัฐนันท์ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐบาล ควรมีนโยบายที่ชัดเจนและมาตรการที่สอดคล้องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ด้วย