ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ “ชุมชนบ้านหัวริน” ใช้ไปกับการทำความเข้าใจโรคเอชไอวี (HIV) จนกระทั่งสามารถยอมรับ และอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยเอชไอวีได้” สมยา อุทาจันทร์ หญิงวัย 59 ปี ผู้ป่วยเอชไอวีในชุมชนบ้านหัวริน ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บอกกับ “The Coverage”

สมยา ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2537 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นโรคใหม่ในชุมชนบ้านหัวริน ทำให้นอกจากเธอต้องประสบปัญหาทั้งทางร่างกายจากการคุกคามของโรคแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจจากการถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการกีดกันทางสังคมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทางเลือกในการทำงานถูกปิดกั้น จนกลายเป็น ‘คนนอก’ ของชุมชน มีเพียงคนในชุมชนบางส่วนเท่านั้นที่ยังปฏิบัติกับเธออย่างเป็นปกติ

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ สมยา ยังมีคนที่ป่วยเป็นเอชไอวีคนอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อยในชุมชนบ้านหัวรินที่พบเจอปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้จากนั้นไม่นานจึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นมาเป็นอีกสังคมที่เสมือนแยกขาดจากสังคมของชุมชนบ้านหัวริน โดยอาศัยพื้นที่สถานีอนามัยบ้านหัวรินที่เป็นพื้นที่สำหรับรับการรักษา (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวริน) ในการพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน

กระนั้นก็ยังไม่พ้นเงื้อมมือของ ‘ความเกลียดชัง’ จากชุมชนบ้านเกิดของตนเอง ความทุกข์ระทมทุกเก็บสะสมนานแรมปี จนในปี 2538 แสงจึงสว่างขึ้นที่ปลายอุโมงค์ เมื่อ พระครูวิวิธประชานุกูล, ดร. เจ้าอาวาสวัดหัวริน พระวิปัสนาจารย์ รุ่นที่ 9 ประธานศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยสุรายาเสพติดเชิงพุทธ ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่อาจนิ่งเฉยได้

พระครูวิวิธฯ จึงได้พยายามศึกษา ค้นคว้า และหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจต่อโรคเอดส์ และเอชไอวีอย่างถ่องแท้ โดยตั้งอยู่บนฐานที่ต้องมีทั้งเหตุและผลรองรับ เพื่อนำไปสู่การสร้างความปกติใหม่ให้กับผู้คนในชุมชนว่าทุกคนสามารถ ‘อยู่ร่วมกัน’ กับผู้ป่วยเอชไอวีได้ ซึ่งจากบทบาทของวัดในการเป็นศูนย์กลาง และแหล่งรวมจิตใจของ ‘ทุกคน’ ในชุมชน คล้ายว่าจะสร้างความหวังให้ สมยา และผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ไม่น้อย

1

ก้าวแรกที่จะนำไปสู่จุดหมาย พระครูวิวิธฯ เริ่มต้นด้วยการให้ผู้ป่วยเอชไอวีทุกคนยอมรับตัวเองให้ได้ และขยับไปสู่การสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเอชไอวีที่สุด ซึ่งก็คือ ‘ครอบครัวของผู้ป่วย’ รวมไปถึงครอบครัวอื่นๆ ในชุมชนที่มีความหวาดกลัวผู้ป่วยเอชไอวีด้วย ผ่านกิจกรรม ‘ครอบครัวร้อยเปอร์เซ็นต์’ ซึ่งป็นการประชุมเพื่ออธิบายให้ความรู้ตั้งแต่การติดเชื้อ การรักษา การดูแล และการอยู่ร่วมกัน

กระบวนการต่อมาเป็นการให้ผู้ติดเชื้อมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคม ทั้งผ่านการให้กำลังใจ การดูแล และตรวจเยี่ยมผู้ป่วยทั่วไป เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เป็นอาทิ “แทนที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะเป็นภาระแล้วต้องได้รับการดูแล แต่เราก็สร้างฐานของผู้ติดเชื้อให้ดูแลคนอื่น โดยเอาบริบทของความรู้เรื่องโรคของเขามาปรับใช้ ทั้งการดูแลทางกาย ความรู้สึกทางจิตใจ และก็สังคมที่เขาอยู่ พระครูวิวิธประชานุกูล อธิบายกับ “The Coverage”

ในระหว่างนั้นได้มีการสร้างอาชีพควบคู่ไปด้วย ผ่านการพาไปดูการประกอบอาชีพหลากหลายแห่ง จนผู้ป่วยเอชไอวีแต่ละคนมีแนวคิด และตัดสินใจได้ว่าต้องการประกอบอาชีพใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกผักค้าขาย และเย็บผ้า แต่ไม่นานนักก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากไม่มีช่องทางในการขาย สิ่งของเหล่านั้นจึงถูกแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างผู้ป่วยแทน

อย่างไรก็ดี ในปี 2543 องค์กรจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาเพื่อศึกษาการจัดการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีในพื้นที่ อ.สันป่าตอง ได้ทราบถึงปัญหาของผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ที่ต้องกลายเป็นคนไร้อาชีพเพราะโรคเอชไอวี จึงได้ติดต่อประสานกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีในทั้งตำบล รวมถึงชุมชนบ้านหัวรินด้วย เพื่อหยิบยื่นโอกาสการสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ซึ่งมีเพียงชุมชนบ้านหัวรินเพียงแห่งเดียวที่สามารถทำอาชีพดังกล่าวได้ยืนยาวจนถึงทุกวันนี้

นั่นคือการรักษาในมิติทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นควบคู่ไปกับกระบวนการรักษาทางการแพทย์ จนเกิดเป็นแผนการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีที่มีชื่อทางการเมื่อปี 2563 ว่า “Huarin HIV model: PLHIV ENGAGEMENT” ซึ่งเป็นการหลอมรวมภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำทางศาสนา และผู้นำชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขี้น

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้นเพื่อบรรลุสู่จุดหมาย ประกอบด้วย 1. Family support เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยเอชไอวีได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากครอบครัว 2. Self-help group ระดับกลุ่ม หรือชุมชน ของผู้ป่วยเอชไอวี โดยเป็นการทำให้ผู้ป่วยเอชไอวีเข้าสังคมมากขึ้น และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ

3. Public health volunteers ระดับเจ้าหน้าที่ เช่น Care giver อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีส่วนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4. Health management district ระดับตำบล โดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในการช่วยเหลือ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต และ 5. District health system ระดับอำเภอ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาระบบสุขภาพในภาพใหญ่

4

“จากการดำเนินการตามแผนนี้ ต้องบอกว่าตอบโจทย์มาก เพราะปัจจุบันไม่มีการตีตราและกีดกันในสังคม ผู้ป่วยเอชไอวีสามารถอยู่ร่วมกันกับประชาชนทั่วไปได้ เกิดการยอมรับ เวลามารับยาที่คลินิกก็ไม่มีการแบ่งแยกว่าผู้ป่วยเอชไอวีต้องมาวันนี้ แต่สามารถมารับยาพร้อมกับผู้ป่วยทั่วไปได้ แล้วก็ผู้ป่วยทั่วไปก็พร้อมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีบทบาทในการดูแลรักษาให้การรักษากับเขาได้ปกติ” วราภรณ์ รัตนาวิบูลย์ ผอ.รพ.สต.บ้านหัวริน บอกกับ “The Coverage”

วราภรณ์ บอกอีกว่า การที่แผนการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากมีฐานของระบบบริการที่เข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนการจัดบริการทั้งด้านยา และการตรวจรักษา ตลอดจนการติดตามอาการ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

เหล่านี้แม้ต้องใช้เวลากว่าทศวรรษในการทำให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงปัญหา และสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่เวลาเหล่านั้นไม่ได้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ปัจจุบันชุมชนบ้านหัวรินมีภารกิจในการ ‘เฝ้าระวัง’ ที่ไม่ใช่กับโรคเอชไอวีอีกต่อไป แต่เป็นการเฝ้าระวังเรื่อง ‘การตีตรา’ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเรื่องที่มีผลกระทบในทางความรู้สึก “ตอนนี้ก็โอเคกับทุกอย่างมีงานทำ มีเงินใช้พอประคองกับครอบครัวได้ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น” สมยา กล่าว