ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเภสัชกรรม เผย ไม่ควรใช้ยาชุด ระบุ อันตรายจากสเตียรอยด์ในยาชุด เสี่ยงคุชชิ่งซินโดรม-ผิวหนังบาง-ไตพัง ระบุ หากผสมยาหลายตัวทำให้มีความซ้ำซ้อนอาจส่งผลให้ทานยาเกินขนาดได้ แนะหากเจ็บป่วยปรึกษาเภสัชกร-แพทย์เพื่อความปลอดภัย


รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงอันตรายของยาชุดที่กำลังระบาดหนักในประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ยาชุดเป็นยาที่มีการพยายามใส่ยาหลายตัวให้ครอบคลุมอาการอย่างครบถ้วน ซึ่งส่วนผสมที่มีปัญหาคือการผสมสเตียรอยด์ เพราะมีฤทธิ์กดอาการต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อย หรือแพ้รุนแรง แม้สเตียรอยด์จะมีคุณต่อร่างกาย ฯลฯ แต่การจะใช้ได้ต้องให้แพทย์เป็นคนสั่ง เนื่องจากเป็นยาควบคุมพิเศษ

อย่างไรก็ดี หากทานต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานาน จะสามารถสังเกตได้ว่ามีอาการคุชชิ่งซินโดรม (Cushing Syndrome) หรืออาการที่มีใบหน้าบวมคล้ายพระจันทร์ รวมไปถึงมีความนูนบริเวณคอ หลัง นอกจากนี้ทำให้ผิวหนังบางส่งผลให้เส้นเลือดแตกง่าย บางครั้งจะมีแผลเป็นรอยจ้ำ กระดูกพรุน และที่สำคัญคือทำให้เกิดภาวะโรคไตได้ง่าย

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า เมื่อทานในระยะยาวสเตียรอยด์จะกดภูมิต้านทาน ทำให้อาจจะติดเชื้อง่ายและอาจจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมไปถึงมีโอกาสเสียชีวิตจากกระเพาะทะลุที่มีสาเหตุมาจากผิวของกระเพาะบางลง นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เป็นความดัน เบาหวานก็อาจจะคุมอาการไม่ได้

ขณะเดียวกันก็ในยาหนึ่งชุดก็อาจจะมียาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ที่จะผสมมากับสเตียรอยด์ที่กดอาการ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และอาจจะทำให้ทานยาเกินขนาดได้เพราะไม่รู้ปริมาณที่แน่ชัด มากไปกว่านั้นยาบางตัวที่ใส่เข้ามาก็ไม่ทราบว่ามียาตัวใดอีกบ้าง และมีแหล่งผลิตที่ไม่ชัดเจน ไม่ทราบว่าเป็นยาจริง หรือยาปลอม แต่ที่เจอประจำคือมีสเตียรอยด์

“เมื่อทานยาซ้ำซ้อนก็กระทบต่อร่างกาย เพราะถ้าทานยาซ้ำซ้อนโดยที่มีผลกระทบต่ออวัยวะเดียวกัน ก็เท่ากับทานยาเกินขนาดด้วย ถ้าทานมากๆ ก็จะมีผลต่อตับ ต่อไต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องปกติ เพราะยาหลายตัวขับออกทางตับ ไต ฉะนั้นจะเกิดปัญหาพวกนี้ต่อเนื่อง” รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวต่อไปว่า เรื่องยาชุดเป็นสิ่งที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตระหนักอยู่แล้ว แต่เนื่องจากยาชุดเป็นยาที่ผิดกฎหมายฉะนั้นอาจจะต้องตามข่าว เนื่องจากบางครั้งมีการเปลี่ยนแหล่งผลิตไปเรื่อยๆ ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เบาะแสจากการร้องเรียน หากมีเบาะแสก็จะลงไปสุ่มตรวจ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ อย. และเภสัชที่อยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็จะมีการตรวจตลาดอยู่ตลอด แต่การจะเจอนั้นควรจะตรวจที่บ้าน ซึ่งเภสัชกรที่อยู่ในหน่วยปฐมภูมิก็มีหน้าที่ลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเพื่อดูปัญหาการใช้ยา แต่ต้องยอมรับว่าเภสัชที่อยู่ในบริการปฐมภูมิยังมีน้อย และเวลาที่จะลงไปเยี่ยมบ้านก็มีไม่มาก หากมีจำนวนคนที่มากขึ้น ก็สามารถมารถลงไปเยี่ยมบ้านได้มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

"จริงๆเภสัชเราต้องการไปดูปัญหายาที่บ้านมากกว่า เพราะเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะเจอปัญหาทั้งหมด การที่ได้ยาจ่ายจากแพทย์อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น ผู้ป่วยได้ยา แต่พอกลับบ้านก็อาจจะใช้ไม่ได้ตามที่แพทย์สั่งหรืออะไรก็ตาม และยังมีปัญหายาชุดยาอะไรซ่อนอยู่ที่บ้านอีก" รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ ระบุ

รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมจะเน้นกับเภสัชกรอยู่แล้วว่ายาชุดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฉะนั้นเภสัชกรที่มีจรรยาบรรณจะไม่จ่ายยาพวกนี้ มากไปกว่านั้นการจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยต้องมีฉลากชัดเจน ต้องให้ระบุยาให้แน่ชัด และต้องแนะนำการใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งสภาเภสัชกรรมก็มีบทลงโทษชัดเจนหากพบว่ามีการจ่ายยาชุด ก็อาจจะถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต เพราะถือว่าเป็นยาอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ อยากเตือนประชาชนว่าไม่ควรใช้ยาชุด โดยเฉพาะยาที่ไม่มีรายละเอียดฉลาก เพราะอาจเสี่ยงเจอกับยาปลอม หรือยาอันตราย รวมไปถึงอาจจะเจอยาที่เสื่อมคุณภาพ หรือหมดอายุผสมอยู่ ฉะนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาควรจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านยาเพื่อความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ให้บริการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองเจ็บป่วย 16 กลุ่มอาการรับยาที่ร้านยาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย