ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เปิดบริการคลินิกออนไลน์ “Telehealth Together” นำร่องผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคทางเดินหายใจที่อาการคงที่ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง-ลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้าน สปสช. เพิ่มงบประมาณดูแลผู้ป่วยต่อครั้งผ่านระบบ Telemedicine เป็น 50 บาท จากเดิม 30 บาท


เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เพื่อเปิดโครงการบริการคลินิกออนไลน์เพื่อสุขภาพดี “Telehealth Together” พบแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้น และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ณ บริเวณ ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการร่วมมือของบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน สามารถรับการรักษาผ่านระบบออนไลน์ ได้อย่างต่อเนื่อง สะดวก รวดเร็ว ง่าย รวมไปถึงลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ตอกย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

1

พญ.ณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า การเปิดคลินิกออนไลน์พบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine นั้นเป็นการขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสุขภาพรองรับการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นการให้บริการด้วยระบบดังกล่าวก็ได้ผลดี จึงมีแนวคิดนำมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาในการเดินทาง เช่น ผู้สูงอายุ หรือในกลุ่มที่การเดินทางอาจจะกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ซึ่งการเปิดคลินิกออนไลน์พบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine เปิดให้บริการวันนี้เป็นวันแรก โดยจะเริ่มนำร่องจากผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้น และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีการขยายต่อไปในผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่นด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับบริการพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ใน 3 กลุ่มโรคนั้นจะมีแพทย์คอยให้บริการ 3 คน ประกอบด้วยแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ 2 คน และแพทย์หู คอ จมูกที่ดูแลเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อีก 1 คน ซึ่งแพทย์ทั้ง 3 คนนี้ให้บริการผู้ป่วยประมาณ 400 คนต่อเดือน ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะรับบริการดังกล่าวได้นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ เมื่อพบแพทย์เสร็จก็จะมีการส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่านไปรษณีย์ โดยจะมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้อง

“ตรงนี้เป็นการนำร่อง กระบวนการต่อไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้มาใช้บริการวันละประมาณ 3,000 คน ก็ตั้งเป้าว่าถ้าลด 10% หมายความว่า 300 คนต่อวันที่สามารถรักษาที่บ้านได้ ก็จะทำให้ความแออัดในโรงพยาบาลลดลง และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น” พญ.ณิชาภา ระบุ

นางโสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้มีการพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางเดินหายใจและพบว่าผู้ป่วยยังขาดการติดตามอาการ จึงนำมาสู่การพูดคุยกับบริษัททรูฯ ที่คอยสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี เพื่อหาทางอุดช่องโหว่ดังกล่าว จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มในการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษา ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงลดการแออัดในโรงพยาบาล

2

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถือเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหลักของ GSK เพราะอยากให้ผู้ป่วยเข้ามาทำการรักษาแค่ที่ รพ.สต. โดยอาจจะผ่านระบบ Telemedicine ไปที่โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทาง ฉะนั้นเป้าหมายต่อไปคือการหาวิธีขยายต่อไปตามเครือข่ายโรงพยาบาลให้มากที่สุด

นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ใช้ Telemedicine ถือว่าเป็นนโยบายที่จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล รวมไปถึงลดการเดินทางของผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง เช่น มาพบเพื่อปรึกษาแพทย์และรับยาชุดเดิม ส่วนนี้สามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบการพบแพทย์ทางไกลได้ ซึ่งก็อาจจะต้องมีการดูผลการศึกษาหลังจากดำเนินการด้วยว่าเป็นอย่างไร

“เป็นเรื่องใหม่สำหรับแพทย์และผู้ป่วยที่จะต้องปรับตัวกับการให้บริการในระบบทางไกล ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีความพร้อมแตกต่างกันในหลายกลุ่มโรค อย่างโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าก็จะเลือกในกลุ่มคนไข้ที่เป็นหอบหืด เพราะกลุ่มนี้เมื่อขาดยาโดยเฉพาะช่วงโควิดที่ไม่สามารถมาพบแพทย์หรือขาดยาไปช่วงหนึ่งทำให้อาการกำเริบ ฉะนั้นแพทย์ที่ดูแลก็เลยคิดที่จะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อที่จะทำให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง ไม่ขาดยา” นพ.ศักดา ระบุ

ด้าน ทพ.อรรถพร  ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 สปสช. มีคู่มือหลักการเบื้องต้นถึงระบบโทรเวชกรรมที่สามารถทำได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ แต่ด้วยความกว้างของกลุ่มโรคก็อาจจะต้องมีการปรึกษาแพทย์ด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่าในช่วงทดลอง ปีงบประมาณ 2565 มีผู้เข้ารับบริการประมาณเกือบ 2 แสนครั้ง ซึ่ง สปสช. ก็ได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับโรงพยาบาลในการดูแล จำนวน 30 บาท สำหรับการดูแลต่อครั้ง

อย่างไรก็ดี สำหรับปีงบประมาณ 2566 มองว่าน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากผู้ป่วยเดิมที่ รวมไปถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบ Telemedicine ซึ่งก็คาดว่าจะมีประมาณ 3 แสนครั้ง ซึ่ง สปสช. ก็ได้มีการเพิ่มงบประมาณในการดูแลเป็น จำนวน 50 บาท สำหรับการดูแลต่อครั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนโรงพยาบาลในการให้บริการผู้ป่วย

“บริการโทรเวชกรรมจะเป็นบริการเสริม คู่มือจะเขียนไว้ชัดเจนว่าเราให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ฉะนั้นการให้ผู้ป่วยเข้ามาในระบบจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนสามารถพบแพทย์ได้ตลอดเวลา” ทพ.อรรถพร กล่าว

2