ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดประชุมใหญ่เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกครั้งที่ 4 และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทยครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับบริการและบุคลากรสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ให้บริการ โดยหัวข้อที่หยิบยกขึ้นมาหารือในปีนี้คือเรื่อง Medication without harm หรือ "ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางยาเป็นศูนย์"

ทั้งนี้ หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการบรรยายพิเศษจากนายกสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งนายกแพทยสภา นายกสภาเภสัชกรรม นายกสภาการพยาบาล ตลอดจนเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของแต่ละวิชาชีพที่มีต่อประเด็นเรื่อง Medication without harm

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า Medication without harm เป็นประเด็นที่สำคัญมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรการในการใช้ยาอย่างปลอดภัย 5 มาตรการ คือ การตรวจสอบข้อบ่งชี้และผลข้างเคียงของยา จำนวนยาที่ให้ผู้ป่วย การรบกวนทางยากรณีผู้ป่วยใช้ยาร่วมกันหลายตัว จะให้ยานานเท่าใดจะหยุดยาเมื่อใด และถ้าเกิดผลข้างเคียงจะรายงานที่ใคร อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวคิดว่าสำหรับประเทศไทยควรเพิ่มเข้าไปอีกข้อ คือเรื่องการลืมทานยาโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการลืมทานยาจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นควรมีการย้ำเตือนผู้ดูแลคนไข้ในเรื่องนี้ด้วย

ในส่วนของนโยบายของแพทยสภาในเรื่องนี้นั้น Medication Safety ถือเป็นจริยธรรมทางการแพทย์สำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับเรื่อง Patient Safety แพทยสภายังดูแลมาตรฐานการทำเวชปฏิบัติของแพทย์ ซึ่งการใช้ยาที่มีข้อจำกัดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญของราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องก่อน

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี ยังให้ความเห็นด้วยว่า Medication without harm เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่เฉพาะแพทย์ พยาบาล แต่รวมถึงทั้งคนไข้ ญาติ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มีเคสตัวอย่างที่เกิดกับตน ตนเองซึ่งเป็นวิสัญญีแพทย์ เคยให้ยานอนหลับคนไข้ผ่าตัดไส้เลื่อนครั้งหนึ่งโดยสั่งจ่ายยาครึ่งเม็ดแล้ววงเล็บต่อท้ายว่า 7.5 มิลลิกรัม แต่ปรากฏว่าเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร อาจจะเขียนไม่ชัด คนเตรียมยาอาจเข้าใจผิดหรือแม้แต่คนไข้ก็ไม่สงสัยเอะใจ จึงให้ยาไปถึง 75 มก. หรือ 5 เม็ด ดังนั้นการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และการทำงานเป็นทีมจะป้องกันความผิดพลาดได้

ด้าน รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Medication safety มีการดำเนินงานร่วมกันจากทุกวิชาชีพมานานกว่า 20 ปี แต่เริ่มโครงสร้างชัดเจนในปี 2551 ซึ่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ทำให้มีโครงสร้างชัดเจน มีการประกาศยุทธศาสตร์และนโยบายเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) ที่ชัดเจน โดยตั้งเป้าว่าจะเป็น RDU Country ภายในปี 2580 หรืออีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทำเรื่อง RDU Hospital มาตั้งแต่ปี 2554 และระยะต่อไปจะขับเคลื่อนเรื่อง RDU Province โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดชัดเจน เช่น สรพ. กำหนดเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็มี Service Plan เกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลที่ชัดเจน และยังถูกบูรณาการในงานประจำทั้งเภสัชกร แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะบรรลุ RDU Country ตามเป้า หรืออาจจะเร็วกว่าเป้าที่ตั้งไว้ด้วยซ้ำ

รศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบทบาทวิชาชีพ เรื่องยาเป็นบทบาทโดยตรงของเภสัชกรอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่สภาเภสัชกรรมพยายามดำเนินการในปัจจุบันคือการลดหรือควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาที่ไม่สาเหตุสมผลไปพร้อมกับภารกิจการทำให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลร่วมกับวิชาชีพต่างๆ มีการขับเคลื่อนเรื่องร้านยาคุณภาพมานาน 10 ปี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่ขายแค่ยาอย่างเดียว และเร็วๆนี้สภาเภสัชกรรมยังเตรียมออกข้อบังคับเกี่ยวกับ Telepharmacy เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการสะดวกในการเข้าถึงเภสัชกร สามารถรับคำปรึกษาและติดตามปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมทั้งในเดือน ต.ค.นี้ยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน My Pharmacist สำหรับให้เภสัชกรแสดงตนว่าปฏิบัติงานอยู่ในจุดไหน และอีกส่วนคือแอปฯ เภสัชกรของฉัน สำหรับให้ประชาชนรู้ว่าร้านยาไหนมีเภสัชกรปฏิบัติงานอยู่ด้วย

ขณะที่ รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า พยาบาลวิชาชีพเป็นบุคลากรที่มีมากที่สุดในระบบสุขภาพ รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชม. การให้บริการของพยาบาลจะปรากฏในสายตาผู้ป่วย ญาติ และประชาชนอย่างใกล้ชิด ดังนั้น สภาการพยาบาลจะต้องให้ประกันกับสังคมว่าพยาบาลทุกคนที่ผลิตมาจะต้องมีความสามารถในการทำงานตามสมรรถนะที่กำหนด

สำหรับสมรรถนะในส่วนที่เกี่ยวกับยานั้น พยาบาลเป็นผู้ให้ยากับผู้ป่วย การให้ยาผู้ป่วยถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐานของพยาบาลเลยทีเดียว สภาการพยาบาลได้ตั้งคณะทำงานและนำหลักสูตร RDU มาบูรณาการในการบริหารยาซึ่งเป็นสมรรถนะหลัก และประกาศสมรรถนะการบริหารยาโดยพื้นฐานการให้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยมีรายละเอียดคือพยาบาลวิชาชีพจะต้องมีสมรรถนะในการประเมินปัญหาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา สามารถร่วมกันพิจารณาเลือกใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามความจำเป็น สามารถสื่อสารให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจในการใช้ยา โดยพิจารณาจากข้อมูลทางเลือกที่เหมาะสม สามารถบริหารยาตามการสั่งใช้ยาได้อย่างถูกต้อง สามารถติดตามผลการรักษา รายงานผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมรรถนะดังกล่าวถูกกำหนดเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรเฉพาะทาง ตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มีถึง 101 หลักสูตร ทั้ง 101 หลักสูตรนี้จะให้ความรู้นักศึกษา 4 หมื่นกว่าคน และทุกคนที่สำเร็จการศึกษาออกมาเป็นพยาบาลจะต้องถูกประเมินความสามารถในการบริหารยาให้ถูกต้องครบถ้วน รวมไปถึงเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลด้วย

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรผู้บริโภค เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและเสนอแนะนโยบาย โดยเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคกับใคร แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งหมดทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ส่วนประเด็นในเรื่องยานั้น ในมุมของผู้บริโภคมองว่าเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นปัญหากลางน้ำ แต่ความคาดหวังคือทำอย่างไรที่จะทำให้เรื่องของยามีความปลอดภัยทั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ยาอันตรายบางชนิดที่มีผลข้างเคียงร้ายแรง ควรมีกลไกนำยาออกจากตลาดโดยอัตโนมัติเป็นต้น เพราะปัจจุบันการนำยาอันตรายออกจากตลาดในประเทศไทยทำได้ช้ากว่าต่างประเทศ 5-8 ปี

“สิ่งที่เราอยากเห็นว่าเกิดกับผู้บริโภคคืออำนาจการต่อรอง ขอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่อาจไม่ได้เป็น Medication harm แต่เป็น Harm โดยตรง เคสนี้คนไข้ไปผ่าตัดตา ตอนเช้าหมอตรวจเสร็จแล้วบอกว่าตอนบ่ายจะมาฉีดแก๊ส ปรากฎว่าถึงเวลาหมอฉีดที่ตาข้างขวาทั้งๆ ที่ตาข้างที่มีปัญหาคือข้างซ้าย คนไข้ไม่ได้ทักท้วงเพราะคิดว่านี่เป็นวิธีการรักษาของหมอ สุดท้ายกลายเป็นว่าคนไข้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง จะเห็นว่า harm เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นวงการแพทย์ต้องทำให้คนไข้มีปากมีเสียงมีสิทธิ์มากขึ้น เราต้องยอมรับว่าการถาม การซัก การแทรกแซงของคนไข้ เป็นการลด harm อย่างหนึ่ง”น.ส.สารี กล่าว

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า Medication without harm เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและตั้งเป็น Safety challenge เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญโดยกำหนดเป็น Safety goal ในหมวดของ Medication safety มีระบบติดตามวัดผล ซึ่งจากรายงานอุบัติการไม่พึงประสงค์พบว่ามีรายงานเรื่องนี้สูงที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญคือเปอร์เซ็นความผิดพลาดไปถึงตัวผู้ป่วยน้อย ดังนั้นต้องชื่มชมชาวโรงพยาบาลที่วางระบบในดูแลเป็นอย่างดี

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า การลด Medication-related harm ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการ synergy กันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายข้าราชการประจำ วิชาชีพต่างๆ และประชาชนผู้รับบริการ การ synergy จะทำให้ 1+1 มากกว่า 2 ต้องมี Common interests มีค่านิยมร่วมกัน มีความสามารถที่เสริมกัน ถ้า synergy ในทุกๆวัน เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ลด Medication error ลด Medication harm แล้ว Patient and Personnel safety goal จะประสบความสำเร็จ