ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม คสช. รับทราบแผนการเงินและงบประมาณฯ ปี 2566 ของ “สช.” รวม 186 ล้านบาท มุ่งเป้าสู่แผนยกระดับเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ใช้ไอที-ข้อมูล-วิชาการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ รับมือความท้าทายของระบบสุขภาพหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมเตรียมทบทวน-จัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับใหม่” เน้นธรรมนำสังคม ยกระดับประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และบทบาทวัดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม และมี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ร่วมกับกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ รวมกว่า 40 คน โดยที่ประชุมได้มีมติรับทราบแผนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้วงเงินงบประมาณ 186.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนดำเนินงานปีแรกและมีเนื้อหางานสอดคล้องกับแผนงานหลักของ สช. ฉบับที่ 4 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2570

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธาน คสช. เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายการทำงานของ สช. ปีงบประมาณ 2566 จะมีทั้งการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ เน้นการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่ คสช. ได้พิจารณาไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศใช้ของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หลังจากนี้ จะมีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย เทคโนโลยี บทบาทของคนรุ่นใหม่ ความเข้มแข็งของชุมชน รวมไปถึงการปรับตัวของระบบสุขภาพที่อาจไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น สช. จะต้องมีบทบาทในการสนับสนุนหรือขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ ด้วยการพัฒนาระบบรับมือ ปรับตัว ต่อวิกฤติปัญหาด้านสุขภาพและสุขภาวะ การสร้างความรอบรู้ การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมด้านสังคมและสุขภาพ” นายอนุทิน กล่าว

1

4

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ สช. ในปี 2566 ได้พิจารณาถึงสถานการณ์สำคัญที่มีผลต่อแผนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบสุขภาพหลังวิกฤติการระบาดโรคโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป รวมทั้งยังได้รับเอานโยบายของคณะกรรมการบริหารสำนักงานฯ (คบ.) ที่ให้ สช. ทบทวนปรับลดงานที่สำคัญน้อย และเพิ่มงานสำคัญของประเทศมากขึ้น

ตลอดจนการพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในและกำลังคนของ สช. เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ที่ใช้ไอที ข้อมูล และวิชาการในการขับเคลื่อนงานภายใต้แผนการดำเนิน 3 แผนงาน 18 โครงการ และอีก 1 โครงการพิเศษที่ทำร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสร้างสุขภาวะใน กทม.

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบแนวทางการทบทวนและจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อทบทวนและปรับปรุงธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ให้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ ที่คณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่ง พ.ศ.2560 ลงนามโดยสมเด็จพระมหา ธีราจารย์ ประธานฝ่ายสงฆ์

2

2

หลังการประชุม นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 (ฝ่ายฆราวาส) กล่าวว่า การได้มาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 หน่วยงาน ขับเคลื่อนบนหลักการธรรมนำโลก อย่างไรก็ตามพบว่า การมีส่วนร่วมของพระสงฆ์กับชุมชน สังคม และการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในแต่ละระดับยังมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการบูรณาการกลไกหรือนโยบายภายนอก รวมถึงการถอดบทเรียนพื้นที่ตัวแบบที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และขยายผลอย่างเป็นระบบ ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่

ขณะเดียวกัน จากการประเมินผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ โดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี 2563 ยังมีข้อค้นพบอื่นๆ เช่น พระสังฆาธิการยังไม่เข้าใจและขาดความรู้ด้านสุขภาพ ส่งผลต่อการจัดระบบและกลไกในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพพระสงฆ์ในวัด ขาดการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสภาวการณ์พระสงฆ์ ที่จะนำไปสู่การวางแผนสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์อย่างเป็นระบบ และจากการรับมือวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นศักยภาพของวัดในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ (ชุดใหม่) โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานกรรมการ ทดแทนคณะกรรมการชุดเดิมที่มีกำหนดครบวาระวันที่ 14 ก.ย. 2565 ซึ่งจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาภูมิปัญญาไทย วิถีไท และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พัฒนานโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนคุณค่าและการพัฒนาภูมิปัญญาไทย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการคัดเลือกและรับรอง “หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ” เป็นต้น

4