ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สรพ.” ลงพื้นที่ จ.สกลนคร เปิดวงเสวนา ถกประเด็นเกณฑ์รับรองคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิ ของ รพ.สต. หลัง 1 ต.ค. เริ่มถ่ายโอนฯ แต่ยังไม่มีข้อกำหนดรองรับการประเมิน


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จัดงานเสวนาเรื่อง “การพัฒนาการจัดระบบบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) เพื่อพัฒนาคุณภาพให้แก่ประชาชน” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ณ สำนักสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร (สสจ.) โดยช่วงหนึ่งของการเสวนาได้มีการพูดถึงข้อกังวลเกี่ยวกับเกณฑ์รับรองคุณภาพสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหลังจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้รับการถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดหรือเกณฑ์ในการประเมินดังกล่าว

1

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. เปิดเผยว่า ไม่ว่า รพ.สต.จะย้ายไปอยู่สังกัดใด ก็ยังอยู่ในบทบาทหน้าที่ของ สรพ. ในการดูแลเรื่องคุณภาพ และพร้อมเป็นจิ๊กซอว์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามาตรฐานและกลไกดูแล ซึ่งการใช้มาตรฐานแบบเครือข่ายอาจจะเป็นคำตอบ เพราะระบบสถานพยาบาลไม่สามารถแยกเดี่ยวได้ ดังนั้นหากใช้มาตรฐานที่สามารถรับรองได้ตั้งแต่เครือข่ายปฐมภูมิ และหากมีการเชื่อมโยงบริการปฐมภูมิ ไปถึงระบบทุติยภูมิ และตติยภูมิได้ ก็อาจจะเป็นคำตอบของระบบบริการสุขภาพในประเทศไทย

“ยืนยันว่ามาตรฐานที่กำหนดโดย สรพ. ผ่านการรับรองในระดับสากล เช่นเดียวกับในส่วนของหน่วยบริการในระบบปฐมภูมิ ซึ่งมีการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยมีสถานบริการปฐมภูมิในระดับที่สากลยอมรับ” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ เดิมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะใช้กลไก รพ.สต.ติดดาว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่ปี 2560-2569 หลังจากนั้น สรพ. จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพในฐานะ third party ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากในวันที่ 1 ต.ค. 2565 จะเริ่มมีการโอนย้าย รพ.สต. จำนวน 3,348 แห่ง หรือประมาณ 30% ของจำนวนทั้งหมดไปอยู่กับ อปท. ดังนั้น สรพ.จึงต้องขยับเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ สรพ.ใช้กลไกมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation: DSHA) เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีฐานที่โรงพยาบาลชุมชน เป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องส่งมอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานให้กับ รพ.สต. ในเครือข่าย

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า ดังนั้น สรพ.จึงเปิดเวทีเพื่อรับฟังทุกภาคส่วน จนได้ร่างมาตรฐานขึ้นมาเฉพาะสถานพยาบาล ซึ่งอย่างน้อยทุกหน่วยบริการจะต้องยืนได้ด้วยตัวเองในการจัดการหน้างาน ขณะเดียวกันในความเป็นจริง ประชาชนหรือผู้ป่วยไม่ได้จบที่ระดับปฐมภูมิ ฉะนั้นมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิก็ต้องมีการเชื่อมโยงเรื่องระบบบริการเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบางระบบที่ไม่ว่าจะอยู่สังกัดไหนก็จะต้องให้ความสำคัญ เช่น ระบบการติดเชื้อ ระบบยา ระบบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ใช้องค์ความรู้วิชาการ และใช้มาตรฐานเป็นตัวเชื่อมเพื่อที่จะกลับมาดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่ดี

2

นายมานพ เชื้อบัณฑิต ปลัด อบจ.สกลนคร กล่าวว่า ทาง อบจ. มีข้อกังวลและคิดอยู่เสมอว่าภารกิจการถ่ายโอน รพ.สต. มาอยู่กับ อบจ. สิ่งที่จะมาประกันคุณภาพหรือรับรองให้ประชาชนได้มั่นใจในสวัสดิการสาธารณสุขภายหลังท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวได้ศึกษา พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และพบว่าปฐมบทของกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ว่า “ประชาชนต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน” รวมถึงหมวดที่ 3 ก็ระบุไว้เช่นกัน แต่ในแง่รูปธรรมยังไม่มี

นอกจากนี้ทาง อบจ. ยังมีข้อจำกัดพอสมควร เพราะแม้บุคลากรจะมีความพร้อมต่อเรื่องบริการ ระบบสนับสนุนเพียงพอ สามารถขับเคลื่อนการถ่ายโอนฯ ให้สำเร็จ แต่หากเทียบกับอัตรากำลังที่มีอยู่เดิมใน สสจ. ที่เป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องนี้ กลับพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ผู้บริหาร อบจ. ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ทำให้อาจขาดมุมมองในเรื่องนี้ เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยผู้ที่จะถ่ายโอนมาช่วยขับเคลื่อนให้ระบบ รพ.สต. หลังจากที่ถ่ายโอนมาให้เดินหน้าต่อไปได้

นายมานพ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับเครื่องมือการประเมินที่ทาง สรพ. เสนอมา เพราะอย่างน้อยทำให้มีหลักประกันคุณภาพให้กับประชาชนว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพ อปท. โดยมากจะเป็นเรื่องกระบวนการ เช่น บุคลากร บริการสาธารณะ การเงินการคลัง ฯลฯ

“ส่วนอัตรากำลังหรือเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำหน้าที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างหนองบัวลำพูได้วางระบบตามแนวทางของ พ.ร.บ.ปฐมภูมิฯ ว่าจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ถ้าหวังพึ่งที่จะอาศัยแพทย์ในระบบราชการที่มีอยู่เดิม ทาง สธ. จะยินดีให้เรามากน้อยแค่ไหน เราเองก็ตอบไม่ได้ แต่เราก็ได้วางระบบเรื่องแพทย์และบุคลากรไว้แล้ว” ปลัด อบจ. ระบุ

3

ขณะที่ นพ.อำพล เวหะชาติ หัวหน้ากลุ่มเวชกรรมสังคม ตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร กล่าวว่า ภารกิจการถ่ายโอนฯ เมื่อคนไปแล้วการทำงานต้องไปด้วย ซึ่งในระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิไม่สามารถแยกการประเมินออกจากระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้ ฉะนั้นหลังจากนี้หากทำการประเมินคุณภาพสถานพยาบาลและบริการจะต้องทำเป็นระบบ โดยการประเมินจากมาตรฐานโรงพยาบาลและสุขภาพ (HA) ที่ผ่านมาของ สรพ. ทำได้ดีและละเอียดมากอยู่แล้ว แต่ในแง่ของการเชื่อมโยงให้เห็นระบบสุขภาพเกิดขึ้น อาจมองว่ายังไม่ชัดเจนมากนัก

“ถ้า รพ.สต.ย้ายไปอยู่ตรงนั้น แล้วไม่มีตรงนี้มาเสริม มันเหมือนกับว่าต่างคนต่างไปพัฒนาของตัวเอง เพราะฉะนั้นบทบาทของ สรพ. ต่อไปต้องเป็นทั้งผู้ประเมิน และเกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้ก็ควรเชื่อมระหว่างปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิกันไปเลย” นพ.อำพล ระบุ

นพ.อำพล กล่าวว่า หากเกิดการพัฒนาให้เกณฑ์มาตรฐานเชื่อมต่อกันได้ จะสามารถพัฒนาในส่วนอื่นๆ ของระบบบริการสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น เช่น ทำให้เกิดการเป็น Smart Hospital, Smart PCU และ Smart รพ.สต. ให้เป็นเครือข่ายและเชื่อมโยงข้อมูลมาอยู่ในระบบเดียวกันทั้งหมด

“ถึงแม้ว่าตัว รพ.สต. ย้ายไปอยู่ในสังกัด อบจ. แล้ว อยากเรียนท่านปลัด อบจ. ว่าทางผมยินดีให้ความร่วมมือในแง่ของวิชาการแล้วก็ในแง่ของการสนับสนุน Partner ในการพัฒนา เพราะว่าตัวผมเองเข้ามา ผมก็อยากเห็นปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง” นพ.อำพล กล่าว

ด้าน ดร.พรศักดิ์ ฤาไกรศรี ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร กล่าวว่า เรื่องคุณภาพของบริการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ รพ.สต. ต้องพัฒนาและดูแล โดยโครงสร้างของ รพ.สต. ถูกแบ่งเป็นขนาด S, M, L ซึ่งบุคลากรก็จะมีจำนวนต่างกันอยู่ที่ 7, 12, 14 คนตามลำดับ ส่วนจำนวนประชากรที่ดูแลคือ 3,000, 3,000-5,000 และ 8,000 คนขึ้นไปตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ (Healthcare) รพ.สต. จำเป็นต้องพึ่งผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วย เช่น แพทย์ ฯลฯ โดยในส่วนนี้จะเชื่อมกับความเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งกฎหมายการถ่ายโอนไม่ได้แยกในส่วนนี้ สถานพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิยังคงมีรวมอยู่ เพราะมีการบริหารจัดการเป็นหน่วยบริการคู่สัญญา (CUP) เดียวกันอยู่แล้ว

“ชื่นชมเกณฑ์เหล่านี้ (ของ สรพ.) ที่มีความยืดหยุ่นที่จะปรับได้หมดให้เข้ากับ S, M, L ของแต่ละพื้นที่ มีเรื่องของวิสัยทัศน์ที่เราต้องกลับไปเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของเราให้เกิดการพัฒนา” ดร.พรศักดิ์ กล่าว