ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แม้ สปสช.จะเพิ่มสิทธิประโยชน์รักษาความผิดปกติทางการได้ยินแก่เด็กด้วยการฝังประสาทหูเทียมตั้งแต่ปี 2564 แต่ในทางปฏิบัติคนไข้ยังเข้าไม่ถึงบริการ เพราะ สปสช. ตั้งสเปคและราคาอุปกรณ์ยังไม่เหมาะสม ทำให้ไม่มีบริษัทไหนขายให้ในราคานี้


ผศ.นพ.พิทยาพล ปีตธวัชชัย ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึง ปัญหาภาวะบกพร่องการได้ยินในเด็กกับสิทธิประโยชน์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ภาวะบกพร่องทางการได้ยินเป็นปัญหาซ่อนเร้นที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กมาก มีการศึกษายืนยันแล้วว่าต้องมีการรักษาเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินก่อนอายุ 6 เดือน เพราะถ้าช้ากว่านี้ พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กจะไม่สามารถเทียบเท่าเด็กปกติได้ และสมองจะต้องได้รับการเรียนรู้ภาษาก่อนอายุ 3 ขวบ ไม่เช่นนั้นสมองที่ดูแลด้านภาษาจะพัฒนาได้อย่างจำกัด

ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยนั้นยังไม่มีการสำรวจตัวเลขทั่วทั้งประเทศที่ชัดเจน มีแต่การศึกษาช่วงปี 2543 รายงายตัวเลขเด็กไทย (ช่วงอายุ 6-15 ปี) ที่มีปัญหาทางการได้ยิน  ซึ่งพบได้ประมาณ 3-4% ของเด็กที่ทำการสำรวจทั้งหมดทั้งในกรุงเทพและตามชนบท กว่า 12,000 ราย ถือว่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน แพทย์สามารถใช้เครื่องมือคัดกรองค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินตั้งแต่เด็กแรกเกิด ปัจจุบันการตรวจคัดกรองจะเน้นเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคน ซึ่งถ้าค้นพบเร็วและได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แล้ว จะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการทางภาษาได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

"ความผิดปกติจะมี 3 แบบ คือ การนำเสียงบกพร่อง เส้นประสาทหูเสื่อม และแบบผสม ซึ่งการรักษาด้วยการฝังประสาทหูเทียมจะใช้กับกรณีที่ผิดปกติแบบเส้นประสาทหูเสื่อม รวมทั้งกรณีผสมถ้าเส้นประสาทหูของผู้ป่วยรายนั้นมีปัญหามากจนไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ เด็กเหล่านี้ก็สามารถใช้วิธีฝังประสาทหูเทียมได้เช่นกัน ผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกมีปัญหาทางการได้ยิน ถ้าเป็นสิทธิบัตรทอง แนะนำให้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาได้เลย แม้ว่าโรงพยาบาลนั้นอาจจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจหรือรักษาความบกพร่องทางการได้ยิน แต่เรามีระบบการส่งตัวขึ้นไปยังโรงพยาบาลที่สามารถรักษาได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หากรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยได้ยินหรือเด็กพูดไม่ได้สมวัย ให้พามาตรวจได้ทันที อย่ารอ" ผศ.นพ.พิทยาพล กล่าว

ผศ.นพ.พิทยาพล กล่าวต่อไปว่า การรักษาด้วยวิธีฝังประสาทหูเทียมมีต้นทุนค่อนข้างสูง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เครื่องประสาทหูเทียมแบบสเปคสูงมาก ๆ จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 850,000 บาท หรือถ้าเป็นเครื่องที่สเปคปานกลางที่มีคุณภาพมากเพียงพอที่แพทย์หรือทีมการรักษา ไม่ว่าจะเป็นนักแก้ไขการได้ยินหรือนักแก้ไขการพูด มั่นใจว่าสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการไม่ต่างจากเครื่องสเปคสูง ๆ จะมีราคาประมาณ 400,000-450,000 บาท ทั้งนี้ ราคาเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงและขึ้นกับจำนวนที่มีการใช้ปริมาณมากหรือน้อย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายหลังผ่าตัดอื่นๆ เช่น ค่าแบตเตอรี่หรืออะไหล่ที่ชำรุดขาดง่าย เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 30,000- 40,000 บาท ทำให้ก่อนหน้านี้ นอกจากเด็กที่ผู้ปกครองใช้สิทธิข้าราชการซึ่งสามารถเบิกได้และเข้าถึงอุปกรณ์ประสาทหูเทียม แต่หากไม่ใช่สิทธิข้าราชการแล้ว มีเด็กน้อยรายที่เข้าถึงการรักษาวิธีนี้ได้ และที่พบประสบด้วยตัวเอง ผู้ปกครองต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่ารักษา ทั้งจากในระบบและนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ประสาทหูเทียมแก่เด็กที่ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องรับภาระในส่วนของค่าอุปกรณ์แล้ว อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติในเคสที่ตนดูแลอยู่ยังไม่สามารถทำการฝังประสาทหูเทียมด้วยสิทธิบัตรทองเลยสักราย ในบางครั้ง มารดาของเด็กบางท่านทราบสิทธิประโยชน์เหล่านี้แต่กลับไม่ได้รับสิทธินั้น และตั้งคำถามกับเราว่า ทำไมคุณหมอหรือโรงพยาบาลจึงไม่สามารถจัดหาประสาทหูเทียมด้วยสิทธิบัตรทองตามที่ประกาศได้ เป็นต้น

ผศ.นพ.พิทยาพล กล่าวขยายความว่า ปัญหาเนื่องจากราคาที่ สปสช.กำหนดสำหรับเป็นค่าอุปกรณ์ประสาทหูเทียมนั้นอยู่ที่ 300,000 บาท ขณะที่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลต่อรองราคาได้ที่ประมาณ 420,000-450,000 บาทแต่จะเป็นสเปคที่ต่ำกว่า สปสช.ตั้ง อย่างไรก็ตาม เข้าใจได้ว่าราคาเหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับสเปคและจำนวนของอุปกรณ์ประสาทหูเทียม แต่ ด้วยสเปคและราคาที่ สปสช. ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ที่ 300,000 บาท ยังไม่มีบริษัทเอกชนขายให้สักราย

"ตอนที่ทราบว่า สปสช. จะเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ ผมกระตือรือร้นมาก อยากใช้สิทธินี้ในการดูแลคนไข้ ซึ่งการประเมินความเหมาะสมของคนไข้ผ่านเกณฑ์วิชาการหมดแล้ว ซึ่งเราต้องใช้ ทั้งเวลาในการประเมิน ในการรักษาเบื้องต้น อีกทั้ง ในการเตรียมเอกสาร หรือ ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่าเด็กเหมาะสมตามเกณฑ์ เพื่อจะให้มั่นใจว่าเด็กได้รับสิทธินั้น ซึ่งคุณแม่คนไข้ก็หวังว่าลูกจะได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด แต่สุดท้ายดันติดปัญหาราคาที่ สปสช.ตั้งไว้ ไม่มีบริษัทเสนอเลย ไม่มีใครขายให้ สุดท้ายคนไข้ก็ยังไม่ได้บริการนี้ ตอนนี้เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือใส่เครื่องช่วยฟังไปก่อน" ผศ.นพ.พิทยาพล กล่าว

ผศ.นพ.พิทยาพล กล่าวต่อไปว่า ปัญหานี้ ตนเชื่อว่า สปสช. รับทราบและน่าจะอยู่ในกระบวนการบางอย่างเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถหาทางออกได้ในเร็ว ๆ นี้