ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกคนคงทราบกันแล้วว่า “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” คนใหม่ คือบุรุษที่ถูกขนานนามว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้สมัครอิสระ คว้าชัยชนะเหนือการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ด้วยคะแนนกว่า 1.38 ล้านคะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนเลือกตั้งที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของ กทม.

แม้ชายคนนี้จะแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคือคุณพ่อผู้อ่อนโยน

หลายคนคงเพิ่งทราบในช่วงนี้เองว่า บุตรชายของผู้ว่าฯ ชัชชาติมีปัญหาทางการได้ยินตั้งแต่เล็กๆ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีเพื่อจะได้อยู่กับลูกให้นานที่สุด

การเปิดเผยแง่มุมส่วนตัวต่อสาธารณะ ทำให้สังคมได้รู้จักการรักษาหูหนวกด้วยวิธีใส่ประสาทหูเทียมมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนเข้าใจว่าเมื่อหูหนวกแล้วไม่สามารถรักษาได้ แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งของผู้มีความผิดปกตินี้สามารถรักษาได้

ทว่า ต้นทุนการรักษามีราคาสูงมาก

ราคาอุปกรณ์ประสาทหูเทียมในปัจจุบันอย่างต่ำๆ ประมาณ 4 แสนบาท ยังไม่รวมค่าผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในการฝึกการได้ยิน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา คนที่จะเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้มีเพียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายไปเบิกคืนได้ กับผู้มีรายได้สูงที่มีกำลังเงินจ่ายค่ารักษาได้เท่านั้น ส่วนผู้มีรายได้น้อยและไม่ใช่ข้าราชการก็คงต้องทำใจอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายดังกล่าวมานี้จะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาอีกต่อไป เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง

หมายความว่าผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองที่มีความผิดปกติทางการได้ยินและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าจำเป็นต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม สามารถรับการรักษาได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมตั้งแต่ค่าอุปกรณ์ ค่าผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการฝึกการฟังเสียง หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สิทธิประโยชน์นี้เพิ่งประกาศใช้ในปี 2564 ที่ผ่านมานี้เอง และให้สิทธิเฉพาะเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบเท่านั้น

.พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้ อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายให้ “The Coverage” ฟังว่า การได้ยินเสียงมีความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กอย่างมาก เพราะเป็นการรับรู้ทางการได้ยิน ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง เรียนรู้การเชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งเด็กที่ไม่ได้ยินจะขาดการกระตุ้นประสาทสัมผัส ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการพูดหรือการสื่อสารได้ เมื่อสื่อสารไม่ได้ การเรียนรู้ อารมณ์และพัฒนาการตัวเองต่อสังคม ก็จะมีปัญหากระทบไปทั้งหมด

สำหรับอัตราความผิดปกติทางการได้ยินในเด็กนั้น ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือเด็กแรกเกิดทุกๆ 1,000 คน จะมีปัญหาทางการได้ยิน 2 คน แต่ละปีประเทศไทยมีเด็กแรกเกิด 5-6 แสนคน เฉลี่ยแล้วก็จะมีเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินประมาณ 1,200 ราย/ปี

ศ.พญ.ขวัญชนก กล่าวอีกว่า ความผิดปกติทางการได้ยินก็มีหลายระดับ อาจจะแค่หูตึง หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง และหูหนวก ในสมัยก่อนการจะทราบได้ว่าเด็กคนใดมีความผิดปกติก็ต้องสังเกตว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาสมวัยหรือไม่ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน แพทย์สามารถตรวจจับความผิดปกติทางการได้ยินได้เลยโดยไม่ต้องรอสังเกตพฤติกรรมอีก

การตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้นเป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล เพราะถ้าตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว ก็สามารถรักษาได้เร็ว เด็กสามารถมีพัฒนาการได้ไม่ต่างจากเด็กปกติ แต่ถ้ายิ่งปล่อยให้เนิ่นนานออกไปแล้วถึงรักษา เด็กก็จะมีพัฒนาการช้า การเรียนรู้ต่างๆ ก็จะลำบากมากขึ้น

"มีงานวิจัยพบว่าถ้าเด็กเริ่มได้ยินครั้งแรกตอนอายุ 5 ปีขึ้นไป พัฒนาการทางด้านภาษาและการเรียนรู้จะไม่เท่าเด็กปกติ พอเข้าเรียนมัธยมหรือปริญญาตรีก็จะยากลำบากกว่าเด็กที่ได้รับการรักษาตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ถ้าได้รับการรักษาในช่วงขวบปีแรกจะได้ผลดีที่สุด และถ้าเริ่มกระบวนการฟื้นฟูรักษาภายใน 3 ขวบ เด็กจะมีพัฒนาการใกล้เคียงเด็กปกติ ดังนั้นในช่วง 3 ปีแรกเป็นช่วงสำคัญที่สุด" ศ.พญ.ขวัญชนก กล่าว

สำหรับแนวทางการรักษาความผิดปกติทางการได้ยินนั้น ศ.พญ.ขวัญชนก อธิบายว่า ในกรณีเด็กที่หูตึงปานกลางขึ้นไปหรือในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะใส่เครื่องช่วยฟังก่อนเพื่อให้มีพัฒนาการทางภาษาที่สมวัย แต่ถ้าหูหนวก เครื่องช่วยฟังอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เด็กจับใจความเสียงได้ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเพื่อให้เสียงที่ส่งผ่านอุปกรณ์เปลี่ยนเป็นกำลังไฟฟ้าไปกระตุ้นประสาทหู

นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าเด็กหูหนวกทุกคนจะสามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม แพทย์ต้องดูข้อบ่งชี้ต่างๆ เช่น ปัญหาในเส้นประสาทหูหรือสมองมีความผิดปกติหรือไม่ ภายวิภาคของอวัยวะหูชั้นในสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ เป็นต้น ถ้าเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ แพทย์ถึงจะผ่าตัดให้ได้ และเมื่อผ่าตัดแล้วไม่ใช่ว่าจะพูดได้เลย แต่ต้องเข้าคอร์สฝึกฟังด้วย

ทั้งนี้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 11 แห่งทั่วประเทศที่สามารถผ่าตัดได้ แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าค่าใช้จ่ายค่าในการรักษาค่อนข้างแพงและต้องมีสภาพของหูที่เหมาะสมถึงจะผ่าตัดได้ ทำให้ที่ผ่านมาเด็กที่มีความผิดปกติยังเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีนี้น้อยราย อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดแล้ว

"สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ประสาทหูเทียมในปี 2564 แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีการศึกษาข้อมูล มีการวิจัยเพื่อหาจุดคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว เรามองว่าเด็กเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในอนาคต การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีความคุ้มค่าทั้งทางการแพทย์และภาพรวมของประเทศ ไม่ว่าอย่างไรก็คุ้มที่จะลงทุน แต่ในปี 2564 เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 และอุปกรณ์ประสาทหูเทียมมีราคาแพง การเบิกจ่ายการจัดซื้อจึงมีขั้นตอนพอสมควร ทำให้มีเด็กขึ้นทะเบียนมาในระบบเพียง 3 รายจากเป้า 33 ราย และยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน 1 ราย แต่ปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น" ศ.พญ.ขวัญชนก กล่าว

สิทธิประโยชน์ของ สปสช. ยังไม่ได้จำกัดแต่เรื่องการรักษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตรวจคัดกรองค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติทางการได้ยินด้วย ซึ่งปัจจุบัน จะครอบคลุมในส่วนของเด็กที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น มีประวัติว่าคนในครอบครัวและญาติพี่น้องหูหนวก เป็นต้น และในอนาคตจะขยายของเขตให้ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกราย ซึ่งเมื่อตรวจพบแล้ว หากโรงพยาบาลนั้นไม่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า และถ้าเป็นเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าหูตึงหูหนวก แพทย์จะออกใบรับรองให้ไปขึ้นทะเบียนผู้พิการ เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะนัดใส่เครื่องช่วยฟัง นัดมาฝึกฟังเป็นระยะ หากยังไม่ดีขึ้นก็จะพิจารณาใส่ประสาทหูเทียมต่อไป

"ประเด็นนี้อยากฝากผู้ปกครองให้ใส่ใจ ถ้ากุมารแพทย์นัดให้มาตรวจคัดกรองการได้ยิน ขอให้ไปพบแพทย์ตามนัด เพราะถ้าพบความผิดปกติแล้วยิ่งรักษาเร็วยิ่งดี ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาว่าแพทย์นัดแล้วผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญหรือคิดว่ารอดูอีกหน่อยซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ในช่วง 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่ดีที่สุด สามารถฟื้นฟูได้จนเหมือนเด็กปกติ แต่ถ้าช้ากว่านั้นก็เท่ากับปล่อยโอกาสที่ดีในชีวิตของลูกไปโดยย้อนคืนไม่ได้" ศ.พญ.ขวัญชนก กล่าวทิ้งท้าย