ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.คลัง ลงนามในหนังสือ “ด่วนที่สุด’ เรื่อง “แนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล กรณีใช้อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียมในการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม” เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ถึงผู้บริหารหน่วยราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ ฯลฯ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า ด้วยปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบ Thai Cochlear Implant Registry (Thai CI Registry) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย โดยระบบดังกล่าวครอบคลุมการประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม การติดตามและประเมินผลการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย และมีข้อมูลเพื่อใช้ประเมินผลในภาพรวมของประเทศในอนาคต 

ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 และข้อ 19 แห่งหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 จึงเห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกรณีใช้อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียมในการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม ให้ผู้มีสิทธิ ส่วนราชการ และสถานพยาบาลของทางราชการถือปฏิบัติ ดังนี้

ผู้มีสิทธิและส่วนราชการ

1. ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่จะเข้ารับการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียมจะต้องมีทะเบียนประวัติสมบูรณ์ เพื่อให้สถานพยาบาลใช้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Thai CI Registry และเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง

2. ส่วนราชการไม่มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายค่าชุดประสาทหูเทียมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง กรณีผู้มีสิทธินำในเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลและหนังสือรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมที่ไม่มีจำหน่ายในสถานพยาบาล (แบบ 7135) มายื่นขอใช้สิทธิเบิกที่ส่วนราชการต้นสังกัด

สถานพยาบาลของทางราชการ

1. นอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุดประสาทหูเทียมที่กำหนดไว้
ตามหนังสือที่อ้างถึง ให้สถานพยาบาลถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้เพิ่มเติม

2. สถานพยาบาลจะต้องได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย หรือกระทรวงสาธารณสุขว่ามีศักยภาพในการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม และจะต้องมีแพทย์เฉพาะทาง ตลอดจนสหวิชาชีพที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน การฝึกพูด และการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ

3. สถานพยาบาลจะต้องลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบ Thai CI Registry เพื่อประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียมและขออนุมัติเบิกชุดประสาทหูเทียม (Pre Authorization : PA) และใช้ข้อมูลจากระบบดังกล่าว เพื่อประกอบการส่งเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรง

4. การพิจารณาเงื่อนไขการเบิกค่าชุดประสาทหูเทียม จะดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย และเมื่อสถานพยาบาลได้รับการอนุมัติแล้ว จะต้องผ่าตัดฝังชุดประสาทหูเทียม ให้กับผู้ป่วยภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งอนุมัติเบิกค่าชุดประสาทหูเทียม

5. การเบิกจ่ายค่าชุดประสาทหูเทียม (รหัส 2405/ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (รหัส 2406 - 2410) ต้องดำเนินการผ่านระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น และมิให้สถานพยาบาลออกหนังสือรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมที่ไม่มีจำหน่ายในสถานพยาบาล (แบบ 7135) ให้ผู้ป่วยไปซื้อชุดประสาทหูเทียมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากสถานที่อื่นเพื่อนำไปยื่นขอใช้สิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล ณ ส่วนราชการ

6. ให้สถานพยาบาลบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน การฝึกพูด และการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง ในระบบ Thai CI Registry เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

7. การลงทะเบียนในระบu Thai CI Registry และการส่งเบิกค่าชุดประสาทหูเทียมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีการที่หน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนด

Attach Files