ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมารายงานปัญหา "การได้ยิน" ของคนทั้งโลก ว่ากำลังเป็นปัญหาพอกพูนความรุนแรง เนื่องจากพบว่าในประชากรทุก 5 คน จะเป็นผู้มีปัญหาทางการได้ยิน 1 คน หรือคิดเป็นถึง 20% ของคนทั้งโลกที่กำลังประสบปัญหานี้

รายงานของ WHO สำทับลงไปอีกว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้คนสูญเสียการได้ยินสูงถึง 2,500 ล้านคน และในจำนวนนี้ 700 ล้านคนจะต้องได้รับการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ WHO ต้องการให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และหาทางรับมือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กแรกเกิด หรือเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินตั้งแต่แรก เนื่องจากการได้ยินจะสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละช่วงวัย ที่จะเจอปัญหาจากการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการเรียนรู้ และคุณภาพประชากรในระยะยาว

ในปัจจุบัน ทางออกสำหรับการรักษาการได้ยิน มีเพียงแค่การผ่าตัดประสาทหูเทียมเท่านั้นที่ได้ผล ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีการรักษาในรูปแบบนี้ เพียงแต่ปัญหาของ “ค่ารักษา” เพื่อการผ่าตัดรวมทั้งค่าอุปกรณ์ที่ต้องใส่เพื่อให้เกิดการได้ยินนั้นมีราคาที่ “แพงอย่างมาก” จึงจำกัดการรักษาอยู่เพียงกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น

ทว่าล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ผลักดันให้เกิดชุดสิทธิประโยชน์ในการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อใส่อุปกรณ์การได้ยินให้กับคนไทย ซึ่งเป็นการช่วยผู้ที่มีปัญหาการได้ยินในประเทศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สำหรับชุดสิทธิประโยชน์นี้เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยมีระบบทะเบียนและคัดกรองเพื่อผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งถูกพัฒนาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ทางทีมวิจัยได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนและคัดกรองผู้มีสิทธิที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้การคัดกรองมีคุณภาพ และมีความรวดเร็วในการวินิจฉัย ก่อนเข้ารับการผ่าตัดประสาทหูเทียม ตลอดจนตัวระบบทะเบียนสามารถติดตาม ประเมินผลการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.นพ.ภาธร ภิรมย์ไชย หัวหน้าโครงการวิจัย สะท้อนถึงผลการวิจัยที่ผ่านมาว่า ในปี 2564 สปสช.สนับสนุนชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ประสาทหูเทียมโดยเพิ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีปัญหาทางการได้ยิน ได้รับการตรวจ และประเมินการรักษาด้วยการผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งคาดว่าจะสามารถผ่าตัดประสาทหูเทียมให้กับเด็กไทยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ถึง 30 รายต่อปี โดยปัจจุบันมีสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้ด้านประสาทหูเทียม และสามารถผ่าตัดประสาทหูเทียมได้รวม 11 สถาบันในประเทศไทย

รศ.ดร.นพ.ภาธร ระบุว่า การดำเนินการวิจัยนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการได้ยิน เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียม รวมไปถึงการติดตามผลหลังผ่าตัด และที่สำคัญคือการคัดเลือกผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ควรได้รับการรักษาเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่ง สปสช. ได้เข้ามาใช้ระบบลงทะเบียนที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อคัดกรองผู้ป่วย

ทั้งนี้ ระบบการคัดกรองจะอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทหูเทียม 3 คน และมีผู้เชี่ยวชาญจาก สปสช. อีก 1 คน ทำหน้าที่คัดกรองว่าผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเพื่อรักษาการได้ยินหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางการรักษา ซึ่งแต่ละรายใช้เวลาประเมินคัดกรองใน 1 สัปดาห์ก็จะทราบผล ทำให้การคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดประสาทหูเทียมยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยเฉพาะค่าผ่าตัดเพียงอย่างเดียวจะอยู่ที่ราว 3-8 แสนบาท แต่เมื่อเกิดชุดสิทธิประโยชน์จาก สปสช.ขึ้นมา ก็ช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กไทยได้เข้าถึงการผ่าตัดประสาทหูเทียมแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรไทย และส่งเสริมให้เด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินได้รับการรักษาและเติบโตอย่างมีคุณภาพ และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” รศ.ดร.นพ.ภาธร ระบุ

หัวหน้าโครงการวิจัยให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนในระบบแล้วกว่า 500 ราย ทั้งที่ได้รับการผ่าตัด และอยู่ระหว่างรอพิจารณาการผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งพบว่าอัตราการลงทะเบียนมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ลงทะเบียนมีสัดส่วนหญิง-ชาย ผู้ใหญ่-เด็ก ที่เท่ากัน ส่วนผู้ป่วยที่รอพิจารณาการผ่าตัดประสาทหูเทียมตามสิทธิของ สปสช.ในช่วงนี้จะมีเฉพาะผู้ป่วยเด็ก

ขณะเดียวกัน จากการติดตามข้อมูลทะเบียนหลังการผ่าตัดประสาทหูเทียม พบว่าผู้ป่วยมีการได้ยินเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในระยะเวลา 6 เดือน และหลัง 12 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งคุณภาพชีวิตในแง่การได้ยินและการเคลื่อนไหวทางร่างกายก็ดีขึ้นด้วย

“นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมถึงกรมบัญชีกลาง ก็ได้แสดงความจำนงที่จะใช้ระบบการลงทะเบียนที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมาเช่นกัน เพื่อนำไปใช้ในการช่วยคัดกรองผู้ป่วยทางการได้ยินในส่วนของสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งหากมีการประสานงานและเกิดการดำเนินการขึ้น ก็จะทำให้การใช้ระบบคัดกรองผู้ป่วย การติดตามผู้ป่วยในระยะยาวของทีมนักวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย” รศ.ดร.นพ.ภาธร กล่าว

ในขณะที่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. เสริมว่า งานวิจัยในโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย และทำให้เกิดระบบการลงทะเบียนที่จะนำไปใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าโครงการนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของประชากรที่ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมในระยาว รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มใหม่ที่ได้รับบริการ เพื่อประเมินความครอบคลุมต่อการเข้าถึงบริการ ประสิทธิภาพ และผลกระทบระยะยาว และได้ทราบว่างบประมาณของประเทศที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์นั้นมีความคุ้มค่า