ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการทำให้ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปกติเขาต้องทำหน้าที่ดูแล ‘แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ’ ให้กับคนกว่า 17 ล้านคนใน กทม.

ทว่า เจ้าหน้าที่ อสส. เหล่านั้นแทบจะไม่ได้รับสวัสดิการอะไรเลยจาก กทม. ในฐานะอาสาสมัครด้านสาธารณสุข

ณ วันที่ กทม. ได้พ่อเมืองคนใหม่แล้ว “The Coverage” พูดคุยกับ วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธาน อสส. กรุงเทพมหานคร เพื่อล้วงลึกถึงภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในเมืองกรุงกว่า 17 ล้านคนของ อสส. รวมถึงสวัสดิการที่ กทม. ควรสนับสนุน

อสส. ไม่ได้ดูแลแค่คนกรุง แต่ดูแลทุกคนที่อยู่ใน กทม.

วิศัลย์สิริ เริ่มต้นว่า หน้าที่ของ อสส. ในขณะนี้ ต้องบอกว่าทำงานทุกเรื่องทุกโรคตามปฏิทินงานประจำปีที่ได้รับจากพี่เลี้ยงศูนย์บริการสาธารณสุข กล่าวได้ว่าดูแลตั้งแต่แรกเกิดถึงเชิงตะกอนโรคอุบัติเก่า-ใหม่ รวมไปถึงดูแลสัตว์ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน

ทั้งนี้ งานสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่ทำงานไม่ง่ายนัก เนื่องจากมีปริมาณประชาชนเยอะ และการเข้าถึงหน่วยบริการของภาครัฐยาก จึงมีคนที่เจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษาอยู่ตามพื้นที่ค่อนข้างมาก ซึ่งกำลังคนของ อสส. ขณะนี้มีประมาณ 8,000-9,000 คน แต่ด้วยหน้างานแล้วส่วนตัวมองว่าควรมีคนมากกว่านี้ให้สอดคล้องกับจำนวนคนในพื้นที่และภารกิจที่ อสส. ต้องทำ

“อย่างโคราชมี 26 อำเภอ มีอาสาสมัครสาธาราณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 5.5 หมื่นคน ต่อประชากร 5 ล้านกว่าคน แต่ของกรุงเทพมีประชากรกว่า 17-18 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งคนต่างด้าว ผู้อพยพระหว่างเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ทำให้ อสส. ไม่ได้ดูแลเพียงแต่คนกรุงเทพอย่างเดียว” วิศัลย์สิริ ระบุ

วิศัลย์สิริ บอกต่อไปว่า ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง อสส. จะไปสอบถามความเป็นอยู่และตรวจเบื้องต้นว่าคนในชุมชนมีผู้ป่วยโรคใดบ้าง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานแต่ละครั้งจะมี เทอร์โมสแกน (Thermoscan) ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดัน 1 เครื่อง ต่อเจ้าหน้าที่ 20 คน ยาสามัญ 10 ชนิดที่ภาครัฐจัดมาให้ อาทิ ยาพาราเซตามอล ฯลฯ ซึ่งถ้าพบผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาจากหน่วยบริการก็จะประสานกับพี่เลี้ยงจากศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เจ้าหน้าที่ อสส. ต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นมาก เช่น คัดกรองผู้ป่วยโควิด เชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีน ช่วยเหลือในการจัดหาข้าวของเครื่องใช้ให้กับผู้ป่วยโควิดที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI)

ความลักลั่นของสถานะ อสส. กับสวัสดิการที่แหว่งวิ่น

วิศัลย์สิริ บอกว่า เจ้าหน้าที่ อสส. ได้รับค่าป่วยการจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชนต่างจังหวัด ผ่านงบประมาณจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เดือนละ 1,000 บาทต่อคน เพื่อใช้สำหรับเป็นค่าเดินทางและค่าโทรศัพท์เวลาประสานงาน

ทว่า อสส. ไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวง สธ. เพราะทำงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่การปกครองพิเศษ จัดเก็บภาษีและบริหารงานแบบเอกชน โดยผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่ทาง กทม. กลับการไม่ได้ช่วยสนับสนุนในส่วนนี้เลย

ดังนั้นด้วยความลักลั่นในสถานะของ อสส. สวัสดิการที่ได้รับจึงแตกต่างจาก อสม. อย่างมาก โดยสวัสดิการที่ อสส. ได้รับนั้นมีให้สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่ อสส. ไปตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชนด้วยตนเอง ทาง กทม. จึงจะสนับสนุนเงินให้วันละ 140 บาท ซึ่งไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค หรือค่าน้ำค่าไฟ แต่อย่างใด

ขณะที่เจ้าหน้าที่ อสม. มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ส่วนลดค่าเดินทาง การมีกองทุนจำนวน 15 กองทุนให้กับบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ อสม. ในการเข้าศึกษาในสาขาแพทย์และพยาบาลได้ฟรี ฯลฯ

กทม. ต้องสนับสนุนสวัสดิการ เพื่อให้กำลังใจคนทำงาน

วิศัลย์สิริ บอกว่า กทม. ต้องสนับสนุนเพิ่มสวัสดิการ อสส. ให้เทียบเท่ากับ อสม. และต้องเปิดรับสมัครอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-59 ปี ซึ่งจะเป็นการเสริมกำลังการทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างดี เพราะขณะนี้อายุของเจ้าหน้าที่ อสส. ค่อนข้างมาก บางคนเลยวัยเกษียณไปแล้วก็มี

นอกจากนี้ อยากให้มีการตั้งงบประมาณสำหรับพัฒนาศักยภาพในการจัดการด้านสุขภาพของ อสส. เพื่อให้เท่าทันกับโรคที่คาดไม่ถึงในอนาคต รวมถึงตั้งกองทุนสำหรับสนันสนุนการทำงานโดยเฉพาะ เช่น ค่าอุปกรณ์ รถสำหรับนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน อีกทั้งเพิ่มเงินสมทบค่าป่วยการอีก 1,000 บาท ต่อคน

วิศัลย์สิริ อธิบายว่า การสนับสนุนสวัสดิการ และส่งเสริมการทำงานเหล่านี้จะช่วยให้คนทำงานในฐานะ ‘อาสาสมัคร’ มีกำลังใจในการทำงาน และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาสมัครทำงานมากขึ้น รวมถึงพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคในอนาคต