ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานองค์การอนามัยโลกชี้ เกือบ 1 ใน 4 ของประเทศสมาชิกมีผลงานการดำเนินนโยบายจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไม่เป็นที่น่าพอใจ เรียกร้องทุกประเทศทำนโยบายเร่งด่วยเพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงานติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประจำปี 2565 หรือ Noncommunicable Diseases Progress Monitor 2022

โดยพิจารณาการดำเนินนโยบายในประเทศสมาชิก รวมทั้งวิเคราะห์ลักษณะมาตราการที่ใช้เพื่อควบคุมและจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง บริบทและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะโรคหลักๆ ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และทางเดินหายใจเรื้อรัง

รายงานดังกล่าวพบว่า แม้หลายประเทศจะมีความก้าวหน้าในการควบคุมและจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่มาตรการที่ใช้ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษามาตรการใน 194 ประเทศสมาชิก พบ 126 ประเทศวางเป้าหมายการควบคุมและจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีระยะเวลาการดำเนินงานชัดเจนตามแนวทางที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก

ในกลุ่มประเทศนี้ มี 77 ประเทศที่สามารถบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้นในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2563

ตัวชี้วัดดังกล่าวครอบคลุมการใช้มาตรการลดการใช้ยาสูบ กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในกลุ่มนี้บังคับใช้มาตราการลดการใช้ยาสูบ เช่น การกำหนดให้ซองบุหรี่มีภาพคำเตือน หรือไม่มีข้อความโฆษณาจูงใจให้คนสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ 

ประเทศสมาชิกส่วนมากได้พัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความก้าวหน้าในการควบคุมและจัดการโรค หลายประเทศยังทำมาตรการเพิ่มการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดโรค

มี 120 ประเทศที่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีเพียง 87 ประเทศที่บรรลุตัวชี้วัดนี้ 

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกพบว่ามี 54 ประเทศที่ทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยผ่านตัวชี้วัดเป็นจำนวนน้อยกว่าปี 2563 ทั้งยังมีการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อโรคลดลง การสอบสวนโรคน้อยลงเช่นกัน ทั้งๆที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ประเทศเหล่านี้ส่วนมากเป็นประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

นอกจากนี้ ที่ตั้งประเทศและรายได้ประชากรมีผลต่อการทำมาตราการเช่นกัน เช่น ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ไม่สามารถทำการสำรวจโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชากรได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเทศยากจน มีทรัพยากรน้อย ทำให้การติดตามและสอบสวนโรคเป็นไปได้ยาก

“ในโลกที่ไม่แน่นอน ยังพอมีความหวังอยู่บ้างสำหรับการควบคุมและจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะเรารู้ว่าจะป้องกันโรคได้อย่างไร และจะมีวิธีจัดการโรคได้อย่างไร รายงานของเรานำเสนอตัวอย่างนโยบายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีหลักฐานยืนยัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปรับใช้ในการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคโดยไม่จำเป็น” นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าว

พญ. เบนเต้ มิกเคลเซน (Bente Mikkelsen) ผู้อำนวยการฝ่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่ารายงานนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกภาคส่วนช่วยกันทำงานเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“มาตราการที่องค์การอนามัยโลกเสนอ จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อประเทศนำไปใช้โดยพิจารณาบริบทของตัวเอง เช่น ลักษณะประชากร ระบบสุขภาพ และการดำเนินนโยบาย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องทำนโนบายที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่มีประสิทธิภาพและคุ้มค้า”

อ่านบทความต้นฉบับ:
https://www.who.int/news/item/12-05-2022-new-report-shows-progress-and-missed-opportunities-in-the-control-of-ncds-at-the-national-level

อ่านรายงาน Noncommunicable Diseases Progress Monitor 2022
https://www.who.int/publications/i/item/9789240047761