ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Disclaimer: บทสัมภาษณ์นี้เป็นความเห็นและประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ส่วนตัวของแพทย์ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดกับทางบริษัท รวมทั้งไม่ได้เป็นความเห็นในนามองค์กรใด

 

ปัญหา "ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น" นับเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลของประเทศไทย ไม่เพียงเฉพาะกับตัวเยาวชนหรือวัยรุ่นเองที่จะต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตามมาเท่านั้น หากแต่นี่ยังส่งผลโดยตรงไปสู่ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนสังคมที่จะต้องร่วมกันแบกรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ รวมไปถึงในแง่คุณภาพประชากร

หากมองไปในมุมต้นตอของปัญหา หลายครั้งผู้คนมักพูดไปถึงการสร้างความตระหนัก การให้ความรู้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ หากแต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารนั้นกว้างไกล และการเข้าถึงความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป คำถามคือปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่นี้ จะมีที่มาจากความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวจริงหรือ?

ในฐานะสูตินรีแพทย์ ที่ทำงานด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ "นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์" กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 6 และกรรมการแพทยสภา ยอมรับว่า Pain Point หนึ่งที่วัยรุ่นเผชิญ คือ "การไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้"

"เมื่อเขาเดินเข้าไปที่ร้านยา บางครั้งกลับโดนว่า หรือโดนสอนว่าอย่ามีเพศสัมพันธ์แทน ทั้งที่เขาตัดสินใจจะเข้าไปซื้อยาคุมกำเนิด ซึ่งผมคิดว่าเขาผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์มาประมาณหนึ่งแล้ว" สูตินรีแพทย์รายนี้ วิเคราะห์

สำหรับพื้นที่หน้างานหลักของ นพ.โอฬาริก อย่างจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งนับว่าติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น เขาย้ำว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ อาจสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เข้ามาช่วยได้

พบแพทย์แบบ 'ออนไลน์' จ่ายยาได้อัตโนมัติ

ในอีกฐานะของการเป็นที่ปรึกษาสมาคมเฮลท์เทคไทย นพ.โอฬาริก ได้ยกตัวอย่างถึงนวัตกรรมล่าสุดคือ "ห้องพบแพทย์ออนไลน์-ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ" (HealthPods) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัท พรีซีชั่นไดเอทซ์ จำกัด หรือ "Dietz" ซึ่งกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบ Telemedicine สำหรับสถานพยาบาล เพื่อช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น

นพ.โอฬาริก อธิบายถึงหลักการคร่าวๆ ของห้องพบแพทย์ออนไลน์-ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ (HealthPods) ดังกล่าว คือเมื่อเราเดินเข้าไปในตู้และทำการยืนยันตัวตน ชื่อ-นามสกุล หรือเลขบัตรประชาชนแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการพบแพทย์ออนไลน์ เพื่อพูดคุยถึงอาการหรือปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้นเมื่อแพทย์วินิจฉัยอาการดังกล่าว แล้วก็อาจมีทางเลือกต่างๆ เช่น จ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เลยทันที หรือ ลองจ่ายยาบางตัวให้ผู้ป่วยกลับไปทานก่อนแล้วค่อยติดตามดูอาการอีกครั้ง หรือ อาจเลือกที่จะไม่จ่ายยา แต่ให้ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

"ฉะนั้นตู้นี้จะไม่ใช่แบบตู้กดน้ำ ที่เดินเข้าไปกดแล้วมียาหล่นออกมาเลย เพราะยาแต่ละตัวมันต้องมีการควบคุม และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะต้องมีการ Consult ก่อน เหมือนเวลาไปร้านยาเราก็ต้องคุยกับเภสัชกร เพื่อถามว่าแพ้ยาอะไรไหมแบบนี้ ส่วนตู้นี้จะใช้เป็นแพทย์ เภสัชกร หรือเป็นใครก็อาจมาดูกันอีกที และวิธี Consult จะใช้การแชท คุยโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล เหล่านี้อาจเลือกตามความเหมาะสม เพราะคนไข้บางโรคก็คงไม่อยากให้เห็นหน้า เช่น เอชไอวี ซึมเศร้า ที่อาจต้องการความเป็นส่วนตัว" แพทย์รายนี้อธิบายหลักการ

เขายืนยันว่าการออกแบบการใช้งานของตู้ HealthPods นี้ อาจไม่ได้มีในลักษณะเดียว หรือ "One size fits all" แต่จะต้องใช้ให้ถูกกลุ่มโรคและกลุ่มคน โดยอาจเป็นการดูแลเฉพาะโรคบางประเภท หรือให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่เคยพบแพทย์มาแล้วครั้งหนึ่ง เคยผ่านการวินิจฉัยและได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นต้น

"เช่น ปวดท้องประจำเดือนตอนตี 3 ต้องการทานยาทันที ไม่ต้องการเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน การมีตู้แบบนี้ใกล้บ้านก็จะช่วยได้ เพราะร้านยาอาจไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หรือคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเดิม ก็เข้าตู้นี้ไปใส่แขนเพื่อวัดความดัน หากค่าปกติก็ส่งยาเดิมให้ทานต่อ เป็นการวินิจฉัยตัวเองได้ ที่จะทำให้ผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น" นพ.โอฬาริก ให้ภาพ

ในส่วนสถานที่ของการจัดวางตู้ HealthPods หากวางตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็จะเป็นกลุ่มโรคแบบหนึ่ง เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดท้องประจำเดือน ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือการคุมกำเนิด ในทางกลับกันหากตู้นี้วางอยู่ในชุมชนที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ก็จะเป็นกลุ่มโรคอีกลักษณะ เช่น ความดัน เบาหวาน หรือหากตู้นี้มีการวางในสนามกีฬา ก็อาจเป็นกลุ่มยาชา น้ำมันมวย สเปรย์พ่นแก้ปวด เป็นต้น

ในอีกมุมหนึ่งการจัดวางตู้ HealthPods ตามทำเลต่างๆ ยังสามารถที่จะเป็นระบบการรวบรวมข้อมูลแบบ Big Data ที่จะทำให้เราเห็นภาพของการเกิดโรคในระดับพื้นที่ นำไปสู่การบริหารจัดการสต๊อกยา รวมไปถึงการออกแบบฟีเจอร์ที่จะสามารถค้นหาตำแหน่งตู้บริเวณใกล้เคียง เพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ตรงกับความต้องการได้

ใช้โมเดลทดสอบ-คำตอบอยู่ที่ผู้ใช้งาน

จากเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามานี้ นพ.โอฬาริก จึงมองเห็นศักยภาพของห้องพบแพทย์ออนไลน์-ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ (HealthPods) ที่จะนำมาตั้งในจุดสำคัญต่างๆ เช่น โรงเรียนเทคนิค หรือโรงเรียนพาณิชย์ ซึ่งอาจสามารถช่วยลดการเกิดปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

นอกจากการมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว การนำระบบ Telemedicine ลักษณะนี้มาใช้ ก็จะช่วยยกระดับภาพรวมของบริการทางการแพทย์ ทั้งในมุมของผู้ป่วย ที่จะประหยัดเวลาทั้งการเดินทางและระยะเวลารอคอย รวมถึงลดค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเดียวกับในมุมของผู้ให้บริการ ที่เมื่อลดความแออัดที่หน่วยบริการได้ ก็จะสามารถให้การบริการได้ดียิ่งขึ้น

นพ.โอฬาริก สรุปว่า ห้องพบแพทย์ออนไลน์-ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ (HealthPods) นี้จะตอบโจทย์ได้ใน 3A คือ "Awareness" ความตระหนักรู้ ในจุดที่มีตู้นี้ตั้งอยู่จะสามารถช่วยสร้างความสนใจให้กับผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น ให้เข้ามาใช้บริการหรือพบแพทย์ได้มากขึ้น "Accessiblity" การเข้าถึง เมื่อตู้นี้สามารถนำไปตั้งใช้งานได้ทุกที่ ย่อมทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น และอาจไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

ท้ายสุดคือ "Affoardable" ความสามารถในการจ่าย เมื่อผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และหากเป็นผู้สูงวัยก็ยังจะช่วยลดภาระของลูกหลาน ในการนำผู้สูงวัยมาพบแพทย์ได้ง่ายขึ้นผ่านห้องพบแพทย์ออนไลน์-ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ แห่งนี้

"สุดท้ายหากมีการตั้งตู้นี้ขึ้นแล้ว ก็อาจเป็นการทดสอบได้ว่าอะไรสะดวกและเหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด อย่างผู้สูงวัย อาจจะยังอยากไปพบแพทย์มากกว่าก็ได้ แต่โมเดลตู้นี้ก็จะเหมาะสมกับบางอย่าง เช่น การบาดเจ็บเล็กน้อย หรือโรคที่ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยครั้งแรก เคยได้รับยาประเภทนี้มาแล้วและมีประวัติเดิม ที่เข้ามาซื้อซ้ำเพราะว่าลืมเอายามา ก็อาจไม่จำเป็นต้องปรึกษาเภสัชกรอีก เป็นต้น ฉะนั้นสุดท้ายแล้วจึงขึ้นอยู่กับการใช้งานจริง และกลไกของตลาดที่จะตอบเองว่าบริการแบบใดที่คนไข้รู้สึกดีที่สุด" นพ.โอฬาริก ทิ้งท้าย