ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพราะสายตาและการมองเห็น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเด็กวัยประถมศึกษา

ทว่า ทุกวันนี้กลับยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกความ “พร่ามัว” จากปัญหาสายตา เข้ามาบดบังและอาจทำให้โอกาสทางการเรียนรู้หรือการพัฒนาศักยภาพต้องหยุดชะงักลง

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ปี 2554-2555 พบว่า เด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1

ว่ากันเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้มีปัญหาสายตา สมควรใส่แว่นประมาณ 3.2 หมื่นคน 

ฉะนั้น “ปัญหาสายเด็ก” จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้ความพร่ามัวมาบดบังโลกใบกว้างของเด็กๆ เหล่านี้

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีโครงการที่ชื่อว่า เด็กไทยสายตาดี ซึ่งตั้งเป้าคัดกรองสายตาเด็กในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พร้อมมอบแว่นสายตาให้กับเด็กทีมีปัญหาทั่วประเทศ

แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ดี และช่วยแก้ไขปัญหาโดยตรง หากแต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ความร่วมไม้ร่วมมือจาก “พื้นที่” คือตัวชี้วัด

“The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ปวีณ ภูจันทึก จักษุแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จ.สกลนคร หนึ่งในจักษุแพทย์ที่ปฏิบัติงานตรวจคัดกรองให้กับเด็กในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ผ่านโครงการ “เด็กสกลนคร สายตาดี ชีวีมีสุข” ในพื้นที่เขต อ.เมือง จ.สกลนคร

ต้องรีบแก้ก่อนเด็กอายุ 8 ปี

นพ.ปวีณ เล่าว่า ปัญหาสายตาเด็กเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปี เพราะถ้าหากเกิน 8 ปีไปแล้วจะแก้ไขค่อนข้างยาก และใช้งบประมาณเยอะ รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไม่ดีเท่ากับการรักษาในช่วงที่เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี

ฉะนั้น การตรวจวัด-คัดกรองความผิดปกติทางด้านสายตา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาทางด้านสายตา ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

ด้วยสถานการณ์ที่เร่งรีบและขนาดของปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้เกิดการพูดคุยกัน ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 และเทศบาลนครสกลนคร ถึงความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการ เด็กสกลนคร สายตาดี ชีวีมีสุข เพื่อตรวจคัดกรองเด็กที่มีปัญหา-ความผิดปกติด้านการมองเห็น ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในเขต อ.เมือง จ.สกลนคร หากพบว่าเด็กคนไหนมีปัญหาสายตา ก็จะมอบแว่นสายตาให้ฟรี

โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลสกลนคร เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร โรงพยาบาลพระอาจารย์แบน ธนาโก โรงพยาบาลวานรนิวาส

นพ.ปวีณ เล่าว่า ที่จริงแล้วเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้ง จ.สกลนคร เคยมีการตรวจคัดกรอง-มอบแว่นตาให้เด็กที่มีปัญหามาแล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการดังกล่าวต้องถูกย่อส่วนลงมาเหลือแค่ในเขต อ.เมือง เท่านั้น

จากการดำเนินการตรวจคัดกรอง พบว่า 1-2 % ของเด็กทั้งหมดในเขตที่เข้าร่วมการคัดกรอง “มีปัญหาด้านสายตา”

“ใน 100 คน จะมีปัญหาสายตา 1-2 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเมื่อเทียบกับประชากร ถ้าทั้งจังหวัดมีเด็ก ป. 1-3 ประมาณ 30,000 คน ก็ถือว่ามีปัญหาหลายร้อยคนเลยทีเดียว

นพ.ปวีณ อธิบายว่า ปัญหาสายตาที่พบนั้น หลักๆ จะเป็นปัญหาสายตาสั้น-ยาว-เอียง แต่ทว่าปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใช้แว่นตา ส่วนปัญหาสายตาเขซึ่งไม่ได้พบมากเท่าสายตาสั้น-ยาว-เอียง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกับจักษุแพทย์เฉพาะโรคเท่านั้น

จักษุแพทย์ขาด - ‘ครู ปูพรมช่วยคัดกรอง

ปัญหาหนึ่งที่สัมพันธ์กับปัญหาสายตาของเด็กใน จ.สกลนคร คือ “จำนวนจักษุแพทย์” ที่มีน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรจังหวัดสกลนคร

ประชากรในจังหวัดสกลนครเรามีประมาณ 1.1-1.2 ล้านคน แต่เรามีหมอตาประมาณ 3-4 คนเท่านั้น นพ.ปวีณ บอกเล่าสถานการณ์

เมื่อจำนวนของ “หมอตา” เป็นปัญหา ในขณะที่ยังมีเด็กจำนวนมากต้องช่วยเหลือ ทำให้ต้องดึงพยาบาลเวชปฏิบัติเพื่อมาช่วยสนับสนุนการทำงานของจักษุแพทย์ที่มีจำกัด

มากไปกว่านั้น ยังมีการชักชวน “คุณครู” เข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยทุ่นแรงจักษุแพทย์ด้วย เพราะครูเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด เมื่อเด็กคนไหนมีปัญหา ครูมักจะเป็นคนแรกที่รู้

โครงการนี้ครูสำคัญมากที่สุดในความคิดของผม

อาจารย์ปวีณ อธิบายว่า ภายในโครงการ จะมีการเทรนให้ครูเพื่อช่วยวัดตาให้ และมีการวัดผลด้วยการสอบ-ออกประกาศนียบัตร ซึ่งที่สุดแล้วพบว่า กำลังของครูช่วยขับเคลื่อนสุขภาพทางสายตาของเด็กประถมได้มาก

นพ.ปวีณ ขยายความว่า ช่วงประมาณ 1-3 เดือนก่อนจะมีการคัดกรองเด็ก ก็จะให้ครูเข้ามาอบรมถึงวิธีการวัดสายตา และปัญหาสายตาพื้นฐานที่ครูควรจะสังเกต เพื่อให้ทราบว่าเด็กคนนั้นมีปัญหาสายตา เช่น เด็กต้องขยับเข้ามานั่งใกล้ๆ กระดานมากขึ้น เป็นต้น

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการอบรม ก็จะมาถึงขั้นตอนการสอบภาคปฏิบัติโดยพยาบาลเวชปฏิบัติ  เพราะต้องมั่นใจว่าครูสามารถวัดสายตาเด็กเป็นในระดับหนึ่ง ซึ่งอุปกรณ์ในการวัดสายตานั้นถูกสนับสนุนโดย สปสช. และเทศบาลนครสกลนคร รวมไปถึงการอุดหนุนสินค้า OTOP อย่าง “ทัพพีไม้” จากชาวบ้านในพื้นที่ใช้เป็นที่ปิดตาเด็กขณะตรวจวัดสายตาอีกด้วย

เราจะส่งแผ่นวัดสายตา ซึ่งเป็นของจักษุแพทย์ไปทุกโรงเรียน ครูก็จะวัดตาทุกคน ปิดตาวัดกันทีละข้าง และส่งคนที่มีปัญหาเข้ามาให้แพทย์ดูซ้ำอีกหนึ่งครั้งนพ.ปวีณ กล่าว และบอกว่า ตรงนี้ทุ่นแรงจักษุแพทย์ได้อย่างมาก

ในปี 2564 นักเรียน ป.1-3 ในโรงเรียนเขตเทศบาล มีจำนวน 3,600 คน พบว่ามีเด็กสายตาผิดปกติเบื้องต้น จำนวน 250 คน ตรวจโดยครูประจำชั้น ครูอนามัยประจำที่โรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่บริการ

จากนั้นเมื่อตรวจโดยจักษุแพทย์ และพยาบาลเวชปฏิบัติ พบว่ามีเด็กที่สมควรได้รับแว่นตา จำนวน 47 คน

นพ.ปวีณ เล่าต่อไปว่า หลังจากที่ได้รับการตรวจคัดกรอง-มอบแว่นตาให้กับเด็กแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีผลที่เป็นตัวเลขแน่ชัดว่าเด็กมีผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่ แต่ทิศทางส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดี

“ส่วนใหญ่ครูจะมาบอกว่าเด็กให้ความร่วมมือในการเรียนมากขึ้น แต่เรายังไม่ได้เก็บตัวเลขตัวชี้วัด ซึ่งในปีหน้าเราก็อาจจะเก็บตัวเลขต่อไป แต่คุณภาพชีวิตเด็กดีขึ้นแน่ๆ บางคนได้ไปก็ติดแว่น ใส่อาบน้ำก็มี”

ครูย่อมเห็นศิษย์เป็นลูก ผมยังไม่เห็นคุณครูที่ไม่ให้ความร่วมมือเลย ทุกคนร่วมมือหมด และยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ เด็กบางคนสั้น 500 800 เราก็ช่วยเขาได้ เหมือนเกิดใหม่เลยเมื่อเขามองเห็น

ความฝันสูงสุด คัดกรองสายตาเด็ก ป.1 ทั้งจังหวัด

สำหรับ นพ.ปวีณ แล้ว เขามีความใฝ่ฝันว่า อยากจะทำให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีราวๆ 3-4 หมื่นคน เข้าถึงการคัดกรองสายตาแบบ 100%

เราอยากกลับไปทำทั้งจังหวัด

ทุกวันนี้ โรงเรียนในอำเภอเมืองทุกแห่งได้เข้าร่วมโครงการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี โดยเด็กทุกคนในอำเภอเมืองต้องได้รับการคัดกรอง สิ่งนี้ถือเป็นมาตรฐานของอำเภอเมือง แต่อำเภออื่นเรายังติดเรื่องโควิด ยังไม่สามารถจัดอบรม คัดกรองได้ ตรงนี้จะรอทำต่อไปหลังจากโควิด

นพ.ปวีณ เล่าต่อไปว่า สำหรับการตรวจวัดสายตาในเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกลก็เคยทำสำเร็จมาแล้ว ถึงขนาดลงไปวัดกันในทุ่งนา ตามชนบท เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจจะติดปัญหา หรือมีอุปสรรคในเรื่องของการเดินทาง

ต้องขอบคุณครู เพราะครูใจถึงมาก ท่านผู้ว่าคนก่อนก็ร่วมมือดีมาก

นอกจากนี้ ก็ยังมีการกระจายจักษุแพทย์ออกไปตามโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยย่อยของโรงพยาบาลสกลนคร เพื่อให้ใกล้กับเด็กมากยิ่งขึ้น เพื่อย่นระยะการเดินทางสำหรับเด็ก เพราะเด็กบางคนอยู่ไกลจากอำเภอมาก ประมาณ 200-300 กิโลเมตร

นพ.ปวีณ เล่าต่อว่า ในเด็กที่อายุมากกว่า 8 ปี หรือเด็กที่โตแล้ว ความจริงก็สามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติทางด้านสายตาได้ เพียงแต่งบประมาณที่มีจำกัด จึงต้องเริ่มนำร่องในเด็ก ป. 1-3 ก่อน หากมีงบประมาณมากขึ้น ก็พร้อมที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมมากขึ้น

นอกเหนือจากงบประมาณสำหรับการคัดกรองแล้ว งบประมาณสำหรับรถรับส่งนักเรียน และอาหารกลางวันสำหรับให้เด็กที่รอการคัดกรอง ก็เป็นสิ่งที่ยังต้องการแรงสนับสนุน

นพ.ปวีณ ย้ำว่า โครงการจะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งจังหวัด เพราะแต่ละหน่วยงานมีความถนัด และความเก่งไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการทำงานแบบบูรณาการจึงเป็นสิ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้

“จักษุแพทย์อย่างเดียว ต่อให้เก่งหรือมีปริมาณมากแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เรายังต้องการกระทรวงศึกษาธิการ ท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำด้วยกัน พอทุกคนช่วยกันก็สำเร็จ รวมไปถึงองค์กรอิสระ มูลนิธิต่างๆ ที่บริจาคอาหารให้กับเด็กด้วย

นพ.ปวีณ ทิ้งทายไว้ว่า สำหรับโครงการเด็กสกลฯ สายตาดี เกิดจากแรงบันดาลใจที่อยากส่งต่อมรดก และความปรารถนาดีจากรุ่นสู่รุ่น เพราะในอนาคตคงต้องอาศัยคนรุ่นใหม่สำหรับสร้างชาติต่อไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ว่าก็หนีไม่พ้นกลุ่มเด็กที่จะต้องรับไม้ต่อจากรุ่นนี้

“ในฐานะที่เราเป็นหมอตา เราก็ทำอะไรให้เขามากไม่ได้ไปกว่าการตรวจคัดกรองตาให้เขามองเห็นชัด ฉะนั้นหลังหมดโควิดเจอกัน เราลุยเต็มที่ เราพร้อมที่จะทำต่อไป” นพ.ปวีณ ระบุ