ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก ชี้คนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ว่าจะใช้บัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจด้วย echocardiography การนัดติดตามอาการ ไปจนถึงการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ


นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่านักร้องชื่อดังรายหนึ่งเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วและต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยมีค่าใช้จ่ายหลักล้าน หรือ 10 ล้านบาทหากต้องไปรักษาในต่างประเทศ โดยลิ้นหัวใจคนเรามี 4 ลิ้น แต่ละลิ้นมีความยุ่งยากในการรักษาต่างกัน วิธีการต่างกัน ลิ้นที่มักเจอว่ามีปัญหาบ่อยคือลิ้นหัวใจระหว่างห้องบนและห้องล่างเหมือนที่นักร้องคนดังกล่าวเป็น

สำหรับวิธีการรักษา ปัจจุบันมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. วิธีมาตรฐานที่ทำมาแต่เดิมคือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นและด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ศัลยแพทย์บางท่านก็สามารถที่จะผ่าเข้าไปแล้วเย็บซ่อมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยน 2. การใช้อุปกรณ์สวนเข้าไปเย็บให้ลิ้นหัวใจรั่วน้อยลง แต่ในคนอายุน้อยไม่แนะนำวิธีนี้เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่และยังไม่ทราบว่าในระยะยาวผลจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด การแพทย์ของเมืองไทยสามารถทำได้หมด ไม่จำเป็นต้องบินไปรักษาต่างประเทศ ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น การผ่าตัดธรรมดาชนิดเปลี่ยนลิ้นหรือซ่อมลิ้นหัวใจ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมาตรฐานก็เท่าเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน

แต่ในกรณีการรักษาโดยการใส่สายสวนหัวใจเข้าไปซ่อม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำได้น้อย และยังมีข้อกังวลเรื่องผลในรยะยาว การเบิกจ่ายจึงยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในหลักแสน หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็อาจจะหลักล้าน

“กรณีลิ้นหัวใจรั่ว สิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่การตรวจเช็คด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อพิสูจน์ทราบว่าลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่ วิธีการเหล่านี้สามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายหากเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ประมาณ 3,000-4,000 บาท จากนั้นแพทย์จะพิจารณาความรุนแรงของอาการ ถ้ารั่วเล็กน้อยหัวใจยังไม่โต บางทีก็จะยังไม่แนะนำให้ผ่าตัดแต่ให้ยาไปก่อนแล้วนัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่กรณีลิ้นหัวใจรั่วมากแล้ว หัวใจโต ก็ต้องรับการผ่าตัด”นพ.เอนก กล่าว

นพ.เอนก กล่าวต่อไปว่า ในการผ่าตัดนี้ ระบบสาธารณสุขของไทยจะมีเครือข่ายบริการอยู่ทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ในแต่ละเขตสุขภาพจะมีโรงพยาบาลแม่ข่ายที่สามารถทำการรักษาได้ โรงพยาบาลลูกข่ายก็จะส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทางโรงพยาบาลปลายทางจะเคลียร์กับโรงพยาบาลต้นทางเอง

“ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ สิทธิการรักษาจะครอบคลุมทั้งหมด โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ยกเว้นแต่จะสมัครใจไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง” นพ.เอนก กล่าว