ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กำหนดทิศทางการดำเนินงานภายใต้ "มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5" ตั้งเป้ายกระดับการรับรอง "HA" ของไทยให้อยู่ในระดับสากล พร้อมผลักดันระบบความปลอดภัย "3P Safety" เพิ่มส่วนร่วมของประชาชน


พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. แถลง “ทิศทางการดำเนินงานของ สรพ. ภายใต้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5” เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 โดยประกาศตั้งเป้าหมายดันองค์กร “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย” เป็นองค์กรที่มีชีวิต องค์กรที่เป็นมิตร และองค์กรที่ใครๆ ก็คิดถึง

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ในโอกาสที่ได้เข้ามารับบทบาทเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำงานของ สรพ. จะปรับระบบการจัดการภายในองค์กร โดยให้ตลอด 4 ปีของการทำงานจากนี้จะวางรากฐานองค์กรให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีความเป็นสากล ตามวิสัยทัศน์ "ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และไว้วางใจได้ ในระดับสากล ด้วยมาตรฐาน HA"

“การสร้างระบบบริการสุขภาพของไทยให้ได้รับความไว้วางใจในระดับสากล องค์กรเราเองก็ต้องผ่านการประเมินจากองค์กรระดับสากล ที่ดำเนินการรับรององค์กรที่ให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่ง สรพ.ผ่านการรับรองมาแล้ว และคาดว่าจะเริ่มประกาศภายในปีนี้ ซึ่งเราจะเริ่มทำตัวเองให้เป็นสากล โดยติดต่อองค์กรต่างประเทศมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ บนเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพ” ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าว

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาของ สรพ. ได้ดำเนินกระบวนการรับรองมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล ให้กับโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินรับรองแล้วราว 60-70% หรือกว่า 700 สถานพยาบาล จากทั้งหมดกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายจากความสำเร็จระดับยอดเขานี้มีโอกาสที่จะขยับลง

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดที่ทำให้โรงพยาบาลเข้าสู่กระบวนการคุณภาพลดลง กระบวนการเยี่ยมสำรวจต้องเปลี่ยนรูปแบบ การฝึกอบรมไม่สามารถจัดในสถานที่ได้ และสถานการณ์อื่นๆ ที่ท้าทาย ส่งผลให้ภารกิจทั้ง 6 ด้าน ของ สรพ. ทำไม่ได้เหมือนที่เคยทำ เช่น การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมิน ต้องปรับการเป็นแบบ Virtual conference

"ดังนั้นเราต้องมาดูกันว่าหลังจากนี้เราจะดำเนินการในด้านการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างไร รูปแบบไหน ทำให้ภารกิจในการประเมิน รับรองเปลี่ยนแปลงไป เราจะทำอย่างไรให้งานประเมินรับรองคุณภาพสถานพยาบาลมีคุณค่า มีความหมาย และโรงพยาบาลจะเข้าสู่กระบวนการได้อย่างมีความสุข นี่คือสิ่งที่ท้าทายการทำงานหลังจากนี้" พญ.ปิยวรรณ กล่าว

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ฉะนั้นภารกิจด้านการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาล ได้มองเห็นกันชัดเจนว่าต่อให้เกิดโควิด-19 ระบาด นักพัฒนาหรือผู้เชี่ยวชาญยังสามารถร่วมพัฒนามาตรฐานได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ "มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5" เกิดขึ้นมาได้ และเป็นช่วงที่ปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับหลายเรื่อง เช่น ระบบการรักษาทางไกล Telemedicine เป็นต้น

ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของนโยบาย 2P Safety หรือ Patient and Personnel Safety ที่ผ่านมาได้บูรณาการเป้าหมายเข้าไปอยู่ในมาตรฐานที่สำคัญ จำเป็นต่อความปลอดภัย ผลักดันให้เป็นเกณฑ์รับรองความปลอดภัยของสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อได้รับมาตรฐาน HA ไปแล้ว จะมีระบบที่จะทำไม่ให้เกิดการผิดพลาด ผ่าตัดผิดคน ผิดข้าง ผิดตำแหน่ง ระบบการป้องกันไม่ให้มีการให้เลือดผิด นอกจากมีระบบแล้ว ถ้าเกิดเหตุขึ้น เรามีกระบวนการเอาเรื่องเหล่านี้เข้ามาทบทวนแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม จากนี้จะขยับเพิ่มเป็น 3P Safety หรือ Patient, Personnel และ People Safety โดยให้มีเรื่องของประชาชน มาเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ระบบบริการสุขภาพแข็งแรง เนื่องจากเห็นว่า People หรือประชาชนได้เข้ามามีความสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากโควิด-19 ที่มีการดำเนินการ Home Isolation กักตัวผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน

"เรื่องนี้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะว่าการกักตัวที่บ้าน คนในบ้านคือ People เพื่อให้มีความปลอดภัย กล่าวได้ว่าเราใช้สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวขยับ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำให้มีความปลอดภัย ที่สำคัญในเรื่องการประเมินคุณภาพสถานพยาบาล ก็จะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นี่คือเป็นภาพต่อไปในอนาคตที่เราอยากทำให้เกิด" พญ.ปิยวรรณ กล่าว