ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก.ก.ถ. เห็นชอบหลักการ "บรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัด อปท." ที่ปฏิบัติงานช่วงโควิด-19 รวม 1,326 คน ภายใต้งบประมาณรวม 231 ล้านบาท พร้อมมอบ สถ.-คณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดกรอบอัตรากำลัง เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ


ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ได้ร่วมกันพิจารณาวาระ "การของบประมาณบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ปฏิบัติงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19" โดยได้มีมติเห็นชอบในหลักการการของบประมาณบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัด อปท. รวม 1,326 คน เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 231,479,980 บาท ซึ่งเป็นมาตรการในระยะสั้น

ทั้งนี้ แบ่งเป็น "พนักงานจ้างตามภารกิจ" จำนวน 1,299 คน ประกอบด้วย ผู้ช่วยนักวิชาการสาธารณสุข 426 คน ผู้ช่วยเจ้าพนักงานสาธารณสุข 424 คน ผู้ช่วยนักวิชาการสุขาภิบาล 353 คน ผู้ช่วยเจ้าพนักงานสุขาภิบาล 73 คน ผู้ช่วยพยาบาลวิชาชีพ 13 คน ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5 คน ผู้ช่วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 คน ผู้ช่วยเจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 คน และผู้ช่วยนักเทคนิคการแพทย์ 1 คน

นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือ "ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน (เงินบำรุง) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ่ายโอน" จำนวน 27 คน ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุข 25 คน พยาบาลวิชาชีพ 1 คน และผู้ช่วยเจ้าพนักงานสาธารณสุข 1 คน โดยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 231,479,980 บาท แบ่งเป็น เงินเดือนข้าราชการ 218,377,320 บาท และเงินสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ข้าราชการ 13,102,660 บาท

สำหรับมาตรการในระยะยาว ที่ประชุมได้ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น (ก.ถ.) และคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น รับข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ไปพิจารณากำหนดกรอบอัตรากำลังบุคลากรด้านสาธารณสุขของ อปท. เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณต่อ อปท.

สำหรับข้อสังเกต ประกอบด้วย 1. การบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขของ อปท. กรณีใช้งบประมาณของ อปท. หรือใช้งบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป จะเป็นภาระผูกพันงบประมาณในระยะยาวทั้งของ อปท. และของรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเงิน การคลัง และงบประมาณของ อปท.

2. เพื่อความเป็นธรรม และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำควรพิจารณาการกระจายตัวของบุคลากรสาธารณสุขของ อปท. ด้วย 3. การคัดเลือกบุคลากรด้านสาธารณสุขของ อปท. เป็นกรณีพิเศษโตยไม่ต้องสอบแข่งขันอาจจะเป็นเสมือนการใช้ทางลัดและการบังคับบรรจุแต่งตั้งบุคลากรสาธารณสุขของ อปท. ซึ่งจะเป็นการสร้างเงื่อนไขในการบรรจุบุคลากรในอนาคต

4. การบรรจุบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากจะกระทบต่อกรอบอัตรากำลังและเป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณของ อปท. 5. ควรพิจารณาตำแหน่งหรือคุณสมบัติของวิชาชีพที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานต้านสาธารณสุขของ อปท. และสอดคล้องต่อภารกิจอื่นของ อปท. ด้วย

6. อาจส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรด้านอื่นของ อปท. ที่ปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน 7. ควรพิจารณาทบทวนอัตราการบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขของ อปท. ว่ามีความจำเป็น หรือควรให้มีการบรรจุทั้งหมด 1,326 คน หรือไม่ 8. การกำหนดอัตรากำลังของบุคลากรส่วนท้องถิ่น ควรคำนึงถึงภารกิจและหน้าที่ของ อปท. เป็นสำคัญ