ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้เขย่าวงการสาธารณสุขอย่างรุนแรง เกิดคำถามและข้อสงสัยมากมาย ตั้งแต่เกณฑ์การถ่ายโอน ไปจนถึงอนาคตของบุคลากร

การถ่ายโอนภารกิจในครั้งนี้ หากทำสำเร็จจะถือได้ว่าเป็นรูปธรรมการ “กระจายอำนาจ” ครั้งใหญ่ที่จับต้องได้ เนื่องจากในอดีตเคยมีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาบ้างแล้ว หากแต่อยู่ในระดับเทศบาล และตำบล เพียงเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ การกระจายอำนาจในอดีตเกิดขึ้นอย่าง “กระปริดกระปรอย” จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เป็นการกระจายอำนาจที่ล้มเหลว

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะสามารถเหมารวมว่าทุก รพ.สต. ที่ย้ายไปซบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลจะล้มเหลวทั้งหมด นั่นเพราะก็มีตัวอย่าง “ความสำเร็จ” ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย

หนึ่งในนั้นคือ “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ” เทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี หรือที่รู้จักในชื่อเดิมคือ สถานีอนามัยบึงยี่โถ ซึ่งถือเป็น “โมเดลต้นแบบ” ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยฉายภาพให้เห็นถึงอนาคตของการกระจายอำนาจให้กับ อบจ. ในขณะนี้ได้

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ นายบัณฑิต ตั้งเจริญดี ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี เพื่อสกัดผลึกคิด และถอดบทเรียนความสำเร็จที่เกิดขึ้น

สธ.มองจากบนลงล่าง แต่ท้องถิ่นใกล้ชิด ปชช.

นายบัณฑิต เล่าว่า ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถย้ายมาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543

การถ่ายโอนในขณะนั้น ท้องถิ่นที่จะสามารถรับโอนไปได้จะต้องได้รางวัลธรรมาภิบาล 5 ปีติดต่อกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นนั้นมีความพร้อมสำหรับการถ่ายโอน ซึ่งขณะนั้นใน จ.ปทุมธานี มีเพียง “บึงยี่โถ” เท่านั้น

“ในช่วงแรก แผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจ แผนที่ 1 ไม่ได้พูดถึงสถานีอนามัย แต่ตอนหลังเขาก็ปรับเอาสถานีอนามัยเข้ามา ก็เลยกลายเป็นเป้าหมายของการถ่ายโอน” นายบัณฑิต ระบุ

นายบัณฑิต บอกว่า การถ่ายโอนในช่วงนั้นจะมีการถามบุคลากรก่อนว่าอยากจะให้ รพ.สต. พัฒนาขึ้นหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าหากเปรียบเทียบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ถือเป็นคนมีลูกเยอะ เมื่อมีงบประมาณเข้ามาจึงกระจัดกระจายและอาจจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง แค่อยู่ได้แต่อาจจะไม่ดีพอ แน่นอนว่าเมื่อไม่ดีพอก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่รับบริการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่ดี

สำหรับผู้บริหารก็มองไปถึงสวัสดิการทางสังคมว่าควรจะต้องดีกว่านี้ ซึ่งในตอนนั้น รพ.สต. ก็มีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน ต่อประชากรในพื้นที่ ราว 9,000 คน อุปกรณ์-การให้บริการก็ยังทำได้ไม่มาก ฉะนั้นแล้วหากหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถหาบุคลากร-อุปกรณ์เพิ่มเติมได้ก็จะสามารถขยายศักยภาพในการให้บริการได้ นั่นคือเหตุผลที่มองว่า “ย้ายดีกว่า”

ขณะเดียวกัน การถ่ายโอนมายังท้องถิ่น ก็อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้แก่บุคลากรได้ หากเป็นการบังคับเข้ามา ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะบุคลากรจะต้องมีหัวใจในการบริการ ฉะนั้นก็ต้องมีการถามถึงความพร้อมของบุคลากรด้วย เมื่อบุคลากรสบายใจ และมีหัวใจบริการ สุดท้ายศักยภาพก็จะเกิด และประชาชนก็จะได้ประโยชน์ มากกว่าการจับ “คลุมถุงชน”

อย่างไรก็ดี บางครั้งตำแหน่งกับคนที่ทำงานอาจจะไม่ตรงกัน เช่น บางคนมีตำแหน่งอยู่ที่บึงยี่โถ แต่ตัวอาจจะอยู่ที่อื่น ขณะเดียวกันบางคนตำแหน่งอยู่ที่อื่น แต่ตัวอยู่ที่บึงยี่โถ ฉะนั้นแล้วคนที่มีตำแหน่งอยู่ที่บึงยี่โถ แต่คนไม่อยากอยู่ที่บึงยี่โถก็สามารถนำตำแหน่งไปอยู่ที่อื่นได้ หรือถ้าตำแหน่งอยู่ที่อื่น แต่คนอยู่ที่บึงยี่โถก็สามารถนำตำแหน่งมาอยู่ตรงนี้ให้ตรงกัน เพื่อที่จะสามารถย้ายไปได้ทั้ง คน-เงิน-ของ

สำหรับศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถ ขณะนั้นมีการถ่ายโอนบุคลากร 100% ของบุคลากรทั้งหมด

การถ่ายโอนเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนหัว จากเดิมที่มีนายเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ระเบียบต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม และแนวทางการถ่ายโอนก็จะไม่น้อยกว่าเดิม คน เงิน ของต้องไปหมด

“เงินของหน่วยบริการก็จะไปด้วย และก็จะมีเงินในส่วนอื่นๆ เข้ามาเติมให้เสมอ แม้กระทั่งสำนักงบประมาณก็ยังตั้งหมวดอุดหนุนให้กับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนเป็นหมวดเฉพาะ ฉะนั้น รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมาอยู่ท้องถิ่นก็จะมีหน่วยนี้สำหรับการของบประมาณ”นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต อธิบายว่า สำหรับมุมมองของ สธ. จะเป็นการการมองจากข้างบน ในกรณีที่มีการซื้ออุปกรณ์- เครื่องมือบางครั้งก็อาจจะไม่ได้มองถึงคนที่จะนำไปใช้ เช่น การซื้อเครื่องเอกซเรย์ให้กับ รพ.สต. ใหญ่ๆ ซึ่ง รพ.สต. แห่งนั้นไม่ได้มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ กลายเป็นว่าเมื่อได้มาแล้วก็ไม่ได้ใช้

ขณะที่ท้องถิ่นจะสามารถเห็นปัญหาได้เยอะกว่า เพราะใกล้ชิดกับประชาชน รวมไปถึงนักการเมืองต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นฝ่ายเลือกให้เข้ามาทำงานด้วย ฉะนั้นเมื่อท้องถิ่นเห็นแล้วว่าประชาชนต้องการอะไร ก็จะมีการเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนนั้น นั่นคือปัญหาสาธารณสุขที่สามารถจับต้องได้ และตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่

เริ่มต้นด้วยบุคลากร 5 คน ทุกวันนี้มี 50 คน

นายบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า บางตำบลมีปัญหาไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากในขณะนั้นไข้เลือดออกกำลังระบาดในพื้นที่ บริบทของศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถ ก็จะเข้ามาทำเรื่องนี้ รวมไปถึงการคัดกรองเบาหวาน-ความดัน ก็สามารถทำได้โดยการออกหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อที่จะเข้าไปเยี่ยมบ้าน คัดกรอง-เจาะน้ำตาล-วัดความดัน เป็นต้น

“อย่างน้อยเราก็จะได้คนไข้ความดัน-เบาหวานรายใหม่ เข้ามาอยู่ในระบบการรักษาเพื่อป้องกันอาการข้างเคียง เช่น หลอดเลือดสมองแตก ไตวาย เราก็จะชะลอชีวิตของเขาได้ต่อไป

“ผมอยู่ข้างล่าง ผมเห็นปัญหา ผมรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องการการกายภาพบำบัด ผมก็ทำคลินิกกายภาพบำบัด ผมหานักกายภาพมาทำ คนไข้ก็จะได้รับบริการโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ” นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต เล่าต่อไปว่า การทำงานในลักษณะค่อยๆ ขยับจะสามารถทำเกิดความยั่งยืนได้ ส่วนตัวมองว่าคนที่ร่วมสร้างกันมาจะรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของร่วมกัน รวมไปถึงสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในวิชาชีพต่างๆ ต่อไปได้

สำหรับศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถ เริ่มต้นด้วยบุคลากรเพียง 5 คน จนขยายมาสู่การมีบุคลากรเกือบ 50 คน ในระยะเวลา 12 ปี

ผมเริ่มจากการมีแพทย์ก่อน เมื่อเริ่มมีแพทย์ก็จะมีคนไข้โรคต่างๆ เข้ามา เช่น คนไข้ต้องการฟื้นฟู ผมก็จะหานักกายภาพมาเติม คนไข้ต้องการดูแล ฟื้นฟูช่องปากก็หาทันตแพทย์มาเติม ไล่มาเรื่อยๆ สร้างงานขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่องานมา คนก็จะล้อมาตามงาน

“เมื่อบ้านใหญ่ขึ้น รับแขกได้เยอะขึ้น เมื่อรับได้เยอะขึ้นคนไข้ก็จะเข้าถึงบริการเราได้เยอะขึ้น มีบุคลากรที่หลากหลาย ผมมีแพทย์ตั้ง 5 คน ฉะนั้นชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้” นายบัณฑิต ระบุ

 สำหรับการถ่ายโอนมาสู่ท้องถิ่น ระเบียบการบริหารงานบุคคลก็ยังใช้ตัวเดียวกันกับ สธ. เพียงแต่ สธ. จะมีหมวกใบเล็ก ผู้ที่เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. จะได้มีตำแหน่งที่สูงที่สุด จึงกลายเป็นว่าทุกคนไม่สามารถเติบโตเท่ากันได้

ขณะที่ท้องถิ่นไม่ได้มีหมวกใบนั้นมาคลุม เนื่องจากท้องถิ่นจะมีแค่งบประมาณคอยดูแล หากมีเงินเยอะจะขยายกรอบ-ตำแหน่งที่เจริญก้าวหน้าก็สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีงบประมาณมารองรับ

“ใน รพ.สต. จะมีบุคลากรที่กำลังจะเป็นช่วงปลายของการรับข้าราชการ เขาเริ่มไม่มีความมั่นใจในความมั่นคง จะมีบำเหน็จ บำนาญหรือไม่ ฉะนั้นส่วนกลาง ท้องถิ่น หรือ อปท. เองอาจจะต้องมีการสื่อสารให้กับบุคลากรที่จะถ่ายโอนว่าทุกอย่างต้องเหมือนเดิม ต้องตอบโจทย์ความต้องการของเขา เหมือนที่เราตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้” นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต มองว่า การถ่ายโอนจะมีทั้งผลดี และผลกระทบต่อผู้รับและผู้ให้ถ่ายโอน ซึ่งอาจจะต้องมีทางหนีทีไล่ให้กับบุคลากรในระดับหนึ่ง ฉะนั้นในแต่ละหน่วยรับ หรือหน่วยให้จะต้องมีการปรับความคิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ถ้าต่างคนต่างคิดต่างทำก็จะจูนกันไม่ได้ สุดท้ายปัญหาก็จะเกิดตามมา บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วก็จะไม่ได้ตามอย่างที่คิด ก็ไปด้วยกันลำบาก การทำงานก็จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน” นายบัณฑิต ระบุ