ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภา เข้าหารือวาระด่วนร่วมกับ สธ. หลังพบเงื่อนไขใช้คะแนนสอบมาคัดเลือกเพื่อบรรจุแพทย์จบใหม่ไม่ถูกหลักการที่ตั้งไว้ ด้าน สธ.รับเรื่องแล้วพร้อมเจรจา ก.พ.หาแนวทางใหม่ต่อไป


แพทยสภา ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 เพื่อขอให้ทบทวนการใช้คะแนนสอบของศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม  (ศ.ร.ว.) มาคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานปลัด สธ.

สำหรับสาระสำคัญของหนังสือดังกล่าว ระบุว่า การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของ ศ.ร.ว. เป็นการจัดสอบเพื่อวัดความรู้ขั้นพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และได้ผลการสอบเป็นผ่าน หรือไม่ผ่านเท่านั้น โดย ศ.ร.ว. ยังได้แจ้งให้ผู้เข้าสอบทราบด้วยว่า ไม่ควรใช้คะแนนเพื่อเปรียบเทียบว่าผู้สอบคนใดมีความสามารถเหนือว่าผู้สอบคนอื่น เนื่องจากเนื้อหาข้อสอบไม่ครอบคลุมความรู้ชั้นสูงในโรคหรือภาวะที่ซับซ้อน

"ดังนั้นข้อกำหนดในการคัดเลือกบุคคลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของแพทยสภา จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนข้อกำหนดดังกล่าว โดยไม่ใช้คะแนนของการสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 1 ของ ศ.ร.ว. ในการจัดลำดับเพื่อบรรจุแพทย์เข้ารับราชการ" หนังสือดังกล่าว ระบุ

ทางด้าน นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิชาการ แพทยสภา ได้จัดวาระด่วนเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 หลังตรวจสอบเงื่อนไขแล้วพบว่าไม่สอดคล้องกับหลักการที่ แพทยสภา โดย ศ.ร.ว. ตั้งและกำหนดไว้ เพื่อวางมาตรฐานในการผ่านเกณฑ์เพื่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นพ.อิทธพร ระบุว่า แพทยสภา ได้สร้างความเข้าใจและเรียนให้ทางคณะกรรมการทราบ พร้อมขอทบทวนวิธีการโดยไม่ให้ใช้คะแนนการสอบ NL 1 และ 2 ในการจัดลำดับการบรรจุ โดยได้ทำหนังสือเรียนท่านปลัด สธ. เรียบร้อยแล้ว จะได้ประสานไปยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน โดยทาง สธ.จะดำเนินการใช้วิธีการที่ไม่ใช้คะแนนดังกล่าวต่อไป

"แพทยสภาไม่ให้ใช้คะแนนตัวนี้ เพราะวัตถุประสงค์ไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้สำหรับการจัดเรียง ซึ่งทาง สธ. ก็ได้รับเรื่องและจะไปประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางใหม่ โดยหารือกับ ก.พ. ว่าจะใช้วิธีการใดที่จะถูกระเบียบราชการ แล้วเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่หากจะต้องจัดสอบหรือทดสอบความรู้ใดๆ เพิ่มเติมที่เป็นธรรมและสะดวก ทางแพทยสภาก็ยินดีสนับสนุน เพื่อให้แพทย์ออกไปทำงานได้อย่างมีความสุข" นพ.อิทธพร ระบุ

นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของแพทยสภาต้องขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทาง นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษก สธ. รวมไปถึงอาจารย์แพทย์ท่านอื่นๆ ที่ได้นัดประชุมและเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว