ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข่าวความสูญเสียคนในวงการบันเทิงอย่าง อ๊อด คีรีบูน (รณชัย ถมยาปริวัฒน์) นักร้องนำและหัวหน้าวง คีรีบูน ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจเรื่องโรคมะเร็งสมองกันมากขึ้น

ทว่าที่จริงแล้ว อ๊อด คีรีบูน ไม่ได้เป็นมะเร็งสมอง แต่เป็นมะเร็งปอดกระจายมาสมอง

ครอบครัวบอกว่า อ๊อด คีรีบูน เป็นมะเร็งปอด โดยเริ่มป่วยตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ได้รับการผ่าตัดออก โรคมะเร็งจึงสงบไป สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนกระทั่งปลายปี 2563 มะเร็งได้กลับมาใหม่

แต่คราวนี้มะเร็งปรากฏในสมอง โดย อ๊อด คีรีบูน ได้รับการผ่าตัดก้อนในสมองออก อาการดีขึ้นกลับไปทำงานเพลงต่อได้ ต่อมามะเร็งกลับมาในสมองอีกครั้ง และได้รับการผ่าตัดสมองอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนเสียชีวิตในอีก 4 เดือนต่อมา

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร Thai Cancer Society มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และ เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า มะเร็งปอดกระจายมาสมอง ในวงการแพทย์ไม่เรียกว่า มะเร็งสมอง เพราะเป็นคนละโรคกัน การรักษาไม่เหมือนกัน ถ้ามะเร็งกระจายไปที่สมองก็จะเรียกมะเร็งชนิดนั้นกระจายไปสมอง เช่นมะเร็งปอดกระจายไปสมอง มะเร็งเต้านมกระจายไปสมอง การรักษาก็จะต่างกัน โดยทั่วไปมะเร็งอะไรก็ตามที่กระจายไปที่สมองก็ถือว่าซีเรียสมาก โอกาสหายมีน้อยมาก

มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย คนไทยเป็นมะเร็งปอดปีละ 1.5 หมื่นราย พบบ่อยกว่ามะเร็งสมองหลายเท่า มะเร็งปอดบางชนิดอาจจะเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ การรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนในปอด

ถ้าก้อนเล็กพอที่หมอผ่าตัดจะผ่าได้ และยังไม่ได้กระจายไปอวัยวะอื่นในวันผ่าตัด ก็เรียกว่าระยะแรก ก็สามารถผ่าตัดได้และลุ้นหายขาดได้ แต่หากก้อนใหญ่หรือติดเส้นเลือด หรือกระจายไปกระดูก สมอง หรืออวัยวะอื่นแต่แรกแล้ว ก็เรียกว่าระยะลุกลาม ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผ่าแล้วไม่เกิดประโยชน์ คุณหมอมักเสนอเคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้า ผู้ป่วยจะเลือกรับหรือไม่รับก็ได้

เมื่อรักษามะเร็งปอดไปแล้ว มะเร็งกลับมาอีกหรือพบว่ากระจายไปอวัยวะอื่นในภายหลัง ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วหลังจากการรักษารอบแรก ก็เรียกว่าระยะลุกลาม หรือระยะแพร่กระจาย บางคนก็เรียกว่าระยะท้าย เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดอีกด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปสมอง ถ้ามีก้อนเดียวอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้แล้วจะไม่เกิดความพิการ คุณหมอก็อาจจะนำเสนอการผ่าตัด แต่หากอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดแล้วเสี่ยงเกิดความพิการ คุณหมอก็จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด แต่จะส่งให้ปรึกษาคุณหมอด้านฉายรังสี

เมื่อเราเห็นก้อนกระจายมาในสมองเพียงหนึ่งก้อนนั้น ที่จริงมะเร็งอาจจะมีเป็นร้อยๆ จุดทั้งในสมอง และอวัยวะอื่นทั่วร่างกายไปแล้ว การทำเอ็มอาร์ไอในวันหนึ่งอาจจะเห็นก้อนใหญ่ที่สุดเพียงหนึ่งก้อน แต่ที่เหลือเป็นจุดเล็กๆ เกินกว่าที่เทคโนโลยีจะตรวจพบในวันนั้น

เมื่อเวลาผ่านไป ก้อนจึงปรากฏขึ้นขึ้นตามเวลา การผ่าตัดมะเร็งที่กระจายมาสมองจึงทำให้หายขาดได้น้อย การฉายรังสี เคมีบำบัดและยามุ่งเป้า ก็อาจยืดเวลาได้ แต่ในที่สุดมะเร็งที่กระจายไปทั่วตัวนั้น มันจะมีบางตัวที่ดื้อรังสี เคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้าที่ได้รับ แล้วก็จะโตขึ้นและปรากฏตัวให้เห็นในที่สุด

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ บอกว่า สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กระจายไปสมองแล้ว ควรปรึกษาหมอหลายคนก่อนตัดสินใจเลือก เพราะหมอแต่ละคนก็จะคิดไม่เหมือนกัน หมอผ่าตัดก็จะคิดอย่างหนึ่ง หมอรังสีก็จะคิดอีกอย่าง หมอมะเร็งก็คิดอีกอย่าง ขณะที่หมอที่รักษาแบบประคับประคองก็จะคิดอีกอย่าง ขึ้นอยู่กับคนไข้จะเลือกแบบไหน

การดูแลแบบประคับประคองเป็นอีกทางเลือก ถ้าอยากอยู่สบายตายสงบก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติ มีโอกาสจากไปอย่างสงบมากกว่ามะเร็งกระจายไปที่อื่นที่จะต้องเจ็บปวดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด

ถ้าเลือกอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ ตายไม่กลัว กลัวทรมาน การมีมะเร็งกระจายไปที่สมองนับว่าเป็นข่าวดี เพราะเมื่อมะเร็งโตขึ้นตามเวลา ผู้ป่วยก็จะนอนหลับมากขึ้น ตื่นน้อยลง ในที่สุดจะหลับ ปลุกไม่ตื่น ไม่รับรู้ความเจ็บปวดทรมานแต่อย่างใด ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้ดูแล ผู้ป่วยที่สนใจ ถ้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็สามารถร้องขอปรึกษาหมอแบบประคับประคองได้ หรือติดต่อมาที่ “เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” ก็ได้

“สำหรับผู้ป่วยหลายคนที่เข้าใจสัจธรรม รู้ว่าการเจ็บตัวรักษาไปก็ไม่ทำให้หายขาด จึงเลือกที่จะไม่จัดการมะเร็ง แต่ใช้ชีวิตเต็มที่ อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ สะสางภารกิจของชีวิตให้จบ ไม่เสียเวลาที่โรงพยาบาลเลย อยู่สบายตายสงบ จบสวยได้ในแบบที่เจ้าของชีวิตวางแผนเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อรู้ว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด โอกาสที่จะเตรียมตัวก็สามารถทำได้

“ยุคสมัยนี้เปิดโอกาสให้วางแผนฉากสุดท้ายของชีวิตที่ลิขิตได้ด้วยตัวเจ้าของชีวิตเอง เมื่อได้รู้ว่าการดำเนินของโรคลุกลามแล้ว เราควรวางแผนประหนึ่งว่ามีเวลาเหลือน้อยไว้ก่อน ใช้โอกาสนี้วางแผนเตรียมพร้อม จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น การจากลาขอบคุณ ขอขมา ร่ำลา จิตสุดท้ายจะได้สงบหมดห่วงใดๆ” ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ อธิบาย