ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นอกจากปัญหาเรื่องของสุขภาพแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คือเรื่อง "รายได้" และ "การมีงานทำ"

จาก "ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย" ครั้งที่ 6 ในปี 2562-2563 โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ พบว่า แม้สัดส่วนผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่จะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 ในปี 2557

ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ยังทำงานในเชิงเศรษฐกิจ ได้เพิ่มขึ้นจาก 41.2% เป็น 50.3% ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่บอกว่าตัวเองมีรายได้ไม่เพียงพอ เพิ่มขึ้นจาก 26.7% เป็น 39.4%

สำหรับการทำงานเชิงเศรษฐกิจ หมายรวมถึงการเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการเอง เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นลูกจ้างเอกชน และการรวมกลุ่มคนร่วมกันทำงาน

ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่สามารถทำงานเชิงเศรษฐกิจได้ นอกจากการมีรายได้แล้ว ยังเป็นตัวสะท้อนถึงความเป็นผู้มีความสามารถ หรือชำนาญการ ซึ่งเป็นที่ต้องการของสังคม ไม่นับรวมถึงความเป็นเจ้าของกิจการ หรือต้องการทำงานเพื่อสังคม

จากการสำรวจได้พบว่าในจำนวนผู้สูงอายุ 50.3% ที่กำลังทำงานเชิงเศรษฐกิจอยู่ หากจำแนกตามเพศจะพบว่าเป็นเพศชาย 60.4% และเพศหญิง 42.3%

แต่หากแบ่งตามกลุ่มอายุ จะพบว่ากลุ่มอายุ 60-69 ปี มีคนที่กำลังทำงานสูงถึง 72.7% และ 54.8% ในเพศชายและหญิงตามลำดับ โดยสัดส่วนนี้จะลดลงตามอายุที่มากขึ้น และต่ำสุดในผู้สูงอายุวัยปลาย หรือ 80 ปีขึ้นไป คือ 21.6% และ 11.1% ในเพศชายและหญิงตามลำดับ

ในส่วนลักษณะของงานหลักที่กลุ่มผู้สูงอายุทำอยู่ ส่วนมากคือเป็นผู้ประกอบกิจการส่วนตัว (รวมการเป็นนายจ้าง) 75% รองลงมาคือลูกจ้างภาคเอกชน 15.9% ลูกจ้างรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ 5.4% เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 1.8% และการรวมกลุ่ม 1.9%

สำหรับเหตุผลหลักที่ผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ คือต้องการมีรายได้ 64.4% เหตุผลรองลงมาคือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 63.8% ยังมีสุขภาพดีอยากทำงานต่อไป 63.6% ทำเพื่อช่วยครอบครัว 50.1% เป็นอาชีพประจำที่ยังต้องดูแลกิจการ 46.9%

ขณะที่แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ คือการได้รับเงินจากกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุ (เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) 83.5%  รองลงมาคือได้รับจากลูกหลาน 58.3% ตามมาด้วยรายได้จากการทำงาน 45%  เงินออม ดอกเบี้ย ทรัพย์สิน 15.9% เงินสงเคราะห์ 11.6% เงินจากคู่สมรส 9.7% และบำเหน็จ บำนาญ 5.4%

พร้อมกันนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ หรือราว 39.4% บอกว่ารายได้ที่ได้รับจากทุกแหล่งไม่เพียงพอ อีกจำนวน 36.3% คิดว่ามีรายได้เพียงพอ, 22.8% คิดว่าเพียงพอเป็นบางครั้ง และมีเพียง 1.5% เท่านั้นที่คิดว่ามีรายได้เกินพอ

ในวันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aged Society) และมีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ผลสำรวจนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเงินและการทำงานของผู้สูงอายุ อันเป็นข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำไปปรับนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต