ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรราว 7,795 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 1,050 ล้านคน หรือประมาณ 14%

ว่าเฉพาะในอาเซียนที่มีประชากรราว 664 ล้านคน สัดส่วนของผู้สูงอายุอยู่ที่ 11%

“สิงคโปร์” เป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด)

สำหรับประเทศไทย หากมองย้อนกลับไปในปี 2513 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุแค่ 5% ทว่าวันนี้ เรากลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ชนิดที่เรียกได้ว่ารวดเร็วมาก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยเราใช้เวลาเพียง 17 ปี ในการเปลี่ยนจากสังคมสูงวัยไปเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

และในอีก 9 ปีถัดจากนั้น คือในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด)

ทุกวันนี้ สถานการณ์ภาพรวมผู้สูงอายุยังมีปัญหาเช่นเดียวกับปีก่อนๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม

1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย เป็นผู้มีรายได้น้อย หรือเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” 

ข้อมูลจาก ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เราพอทำความเข้าใจถึง “ความมั่นคงทางรายได้” ของผู้สูงอายุไทย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก คือกลุ่มผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ มีจำนวน 9,663,169 คน งบประมาณสำหรับคนกลุ่มนี้มีจำนวน 72,280 ล้านบาท

กลุ่มที่สอง คือผู้ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีจำนวน 803,293 คน งบประมาณสำหรับคนกลุ่มนี้มีจำนวน 267,012 ล้านบาท

กลุ่มที่สาม คือผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม มีจำนวน 598,550 คน งบประมาณสำหรับคนกลุ่มนี้มีจำนวน 20,203 ล้านบาท

นางศิริรัตน์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่า เบี้ยยังชีพเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2536 จาก 200 บาทต่อเดือน และได้ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2554 ที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุทุกคนเป็นขั้นบันได ไล่ตามช่วงอายุตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือน โดยปัจจุบันยังคงใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่

อย่างก็ตาม แม้จะมีการปรับเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพขึ้นมา แต่หลายฝ่ายก็มองว่าจำนวนเงินที่ได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพได้จริง จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยน “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญแห่งชาติ”

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสร้างหลักประกันทางด้านการเงินให้ผู้สูงอายุ มีหลักการสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1. ทำให้พ้นจากเส้นความยากจน 2. รายได้ไม่ควรกระโดดจากตอนทำงานมากนัก 3. ช่วยลดความเสี่ยงจากการอายุยืน

สำหรับวิธีการตอบโจทย์ดังกล่าว มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่ การออม ระบบประกันสังคม และแนวคิดรัฐสวัสดิการ ซึ่งประเทศไทยและอีกหลายประเทศใช้ทั้ง 3 วิธีผสมกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. บำนาญพื้นฐาน ของประชาชน ยังมีจุดอ่อนคือแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำไปใช้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการภาษี

อย่างไรก็ดี หลังจากยื่นเรื่องไปยังกรรมาธิการสวัสดิการสังคม ได้มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มีการกำหนดแหล่งที่มาของงบประมาณ อาทิ การเก็บภาษีเพิ่มเติม จากเดิมเก็บ 2% เพิ่มเป็น 5% มีการเพิ่มหมวดการจัดเก็บที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การออกสลากการกุศลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

หลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุจะต้องทั่วถึงและเป็นธรรม ถ้าเปลี่ยนกฎหมายเสร็จ จากเบี้ยยังชีพจะถูกเปลี่ยนเป็นบำนาญพื้นฐาน เพื่อให้เป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุแบบรายเดือน ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด และจะมีการพิจารณาปรับปรุงทุก 3 ปีตามเส้นความยากจน” นายนิมิตร์ กล่าวสรุป