ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ ผลักดันแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เท่าทันปัจจุบัน


ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) พร้อมผู้แทนเครือข่าย เดินทางเข้ายื่นรายชื่อประชาชนริเริ่มขอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติบางประการในกฎหมายดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน มีการโฆษณาแฝง เลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย จึงต้องการนำเสนอมาตรการที่เข้มแข็งมากขึ้น พร้อมทั้งยืนยันหลักการแก้ไขกฎหมายต้องทำให้กฎหมายมีความเข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น ไม่ใช่ให้อ่อนแอลง  

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีการใช้มากกว่า13 ปี จึงไม่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงและสื่อสมัยใหม่ในปัจจุบัน โดยขณะนี้หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ก็พบว่ามีภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอเข้ามาเช่นเดียวกัน โดยร่างดังกล่าวเป็นการลดประสิทธิภาพในการควบคุม กลายร่างมาเป็นกฎหมายส่งเสริมการขายน้ำเมาแทน เช่น เสนอยกเลิกการห้ามโฆษณา ยกเลิกการห้ามลดราคา แจก แถม ให้ชิม ให้ขายเหล้าเบียร์ในมหาวิทยาลัยได้เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยมีผู้ริเริ่มร่วมกัน 28 คน จึงนำรายชื่อมาเสนอต่อประธานสภาเพื่อพิจารณา หากเห็นด้วยก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงเว็บไซต์ www.stopdrink.com หากประชาชนเห็นด้วยก็ลงชื่อสนับสนุน เมื่อได้เกิน 1 หมื่นรายชื่อก็จะนำเสนอร่างกฎหมายจากประชาชนต่อรัฐสภาอีกครั้ง 

นายชูวิทย์  จันทรส  ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า ในการเสนอแก้ไขของฉบับภาคประชาชนป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีประเด็นสำคัญโดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องการควบคุมการโฆษณา จะเขียนเนื้อหาให้จำแนกแยกแยะถึงขั้นการใช้ตราเสมือน เพราะปัจจุบันพบผู้ผลิตใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปผลิตสินค้าอื่นในเครือ เช่น น้ำดื่ม โซดา และเชื่อมโยงสู่สินค้าแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ จึงต้องเขียนให้ชัด รวมถึงการให้สปอนเซอร์ การให้ทุนอุปถัมภ์ ต้องเขียนรูปแบบทุนอุปถัมภ์ให้ชัดขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงโทษผู้ดื่มควรแก้ไขให้เป็นโทษทางปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้เลย เพราะกฎหมายฉบับเดิมถือเป็นโทษอาญาที่ต้องใช้เวลานานเพราะต้องผ่านทั้งตำรวจ อัยการ และศาล

นอจากนี้ ยังมีการกำหนดหน้าที่ของผู้ขายทั้งประเภทไม่ดื่มที่ร้าน และดื่มที่ร้าน ที่ต้องถูกระงับใบอนุญาตขายสุราชั่วคราว การให้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับอันตรายทางกาย ชีวิต ทรัพย์สินจากผู้ขับขี่ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยถือเป็นคดีผู้บริโภค มีมาตรการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานพยาบาล ซึ่งชุมชนหรือองค์กรเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม ยกเลิกบทลงโทษอาญาในบางกรณีโดยบัญญัติเป็นโทษปรับทางปกครองหรือการทำงานบริการสังคมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์แทน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีการจัดประชุมสมัชชาเครือข่ายควบคุมแอลกอฮอล์ เป็นต้น

“พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีเนื้อหาที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาในปัจจุบัน อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีข้อจำกัดหลายประการ อีกทั้งขณะนี้ยังพบว่าประเทศไทยมีการออกใบอนุญาตขายสุราของกรมสรรพสามิตในสัดส่วนสูงติดอันดับโลกคือ ราว 589,000 ใบอนุญาต ซึ่งส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย และไม่สามารถลดอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขให้กฎหมายเข้มแข็งขึ้น” นายชูวิทย์ กล่าว