ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มาตรา 15 ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ

แน่นอน “นักกายภาพบำบัด” ถือเป็นหนึ่งในทีมผู้ให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ

นั่นหมายความว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิจะได้รับบริการสุขภาพจากนักกายภาพบำบัด

หากแต่ความเป็นจริงในปัจจุบันกลับตรงกันข้าม พบว่าคนในชุมชนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการกายภาพบำบัด

หนำซ้ำทุกวันนี้ มีนักกายภาพบำบัดจำนวนไม่น้อยที่ถูกระบบผลักออกไปจากวิชาชีพ เนื่องด้วยกรอบการจ้างงานไม่เอื้ออำนวย ตำแหน่ง-อัตราการบรรจุเข้ารับราชการมีน้อยนิด

นักกายภาพบำบัดหลายราย แม้ว่าจะยังไม่ถอดใจแต่ก็แทบไม่มีทางเลือก บางคนต้องจำนนยอมเป็น “ลูกจ้างรายวัน” อย่างเช่น ทักศินาภรณ์ บู่คำ นักกายภาพบำบัดรายวัน โรงพยาบาลท่าคันโท จังหวัด​กาฬสินธุ์

“ทักศินาภรณ์” ทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดมาแล้ว 1 ปี 7 เดือน หน้าที่หลักของเธอคือการเข้าไปดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยในชุมชนแบบเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในระยะ Golden Period (ป่วยมาไม่เกิน 3-6 เดือน) ที่จำเป็นต้องได้รับการกายภาพเพื่อป้องกันความพิการ

ด้วยลักษณะงานที่ต้องลงไปคลุกคลีกับผู้ป่วยอย่างแนบแน่นเป็นประจำ นั่นทำให้ “ทักศินาภรณ์” เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและเข้าถึงหัวอกของผู้ป่วยเป็นอย่างดี เธอค่อนข้างตระหนักในความรับผิดชอบของนักกายภาพบำบัด และรับรู้ว่านักกายภาพบำบัดมีความจำเป็นต่อชีวิตผู้ป่วยเพียงใด

ทางฟากฝั่งผู้ป่วย ก็ล้วนแต่รู้สึกยินดียิ่งเมื่อ “ทักศินาภรณ์” เข้ามาดูแล

โรงพยาบาลท่าคันโท มีนักกายภาพบัดที่เป็นข้าราชการอยู่ 4 คน และมีลูกจ้างรายวัน 1 คน ซึ่งก็คือเธอ โดยการทำงานจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีม แต่ละทีมจะลงไปเยี่ยมชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยวันละ 8-10 ราย รวมทั้งกลับมาดูแลผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตามแผนกอีกด้วย

“ทักศินาภรณ์” เล่าว่า แม้จะรักในอาชีพกายภาพบำบัดมาก แต่ด้วยการเป็น “ลูกจ้างรายวัน” ทำให้ไม่มีสวัสดิการเฉกเช่นคนอื่น ทั้งๆ ที่ทำงานหนักเท่ากัน

มากไปกว่านั้น ในกรณีที่จะขอลาหยุด-ลาป่วย ลูกจ้างรายวันก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้ ซึ่งหมายถึงขาดรายได้ไปเลย นั่นหมายความว่าหากทำงานในจำนวนวันที่น้อยก็จะได้เงินน้อยลงไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้เธอได้รับค่าแรงอยู่ที่วันละ 650 บาท

“มันค่อนข้างบั่นทอนเรานะ เพราะเราก็รู้สึกว่าเราเป็นนักกายภาพบำบัดคนหนึ่ง เราทำงานเท่ากับคนอื่น แต่กลับรู้สึกเหมือนโดนทิ้งไว้ข้างหลัง ทุกวันนี้ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะได้กำลังใจจากผู้ป่วย และเห็นว่าผู้ป่วยต้องการเราจริงๆ” นักกายภาพบำบัดรายวัน ระบุ

“ทักศินาภรณ์” เล่าต่อไปว่า ถึงแม้ความต้องการนักกายภาพบำบัดในปัจจุบันค่อนข้างสูง แต่การบรรจุเข้าเป็นข้าราชการของนักกายภาพบำบัดกลับอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยถึงน้อยมาก นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นักกายภาพบำบัดบางคนต้องจำใจผันตัวเองออกไปทำอาชีพอื่น หรือย้ายเข้าไปทำงานในเอกชน

“เรามาเป็นนักกายภาพบำบัดก็เพราะอยากช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่บุคลากรกลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีคุณภาพดีขึ้นตามไปด้วยเลยเพราะกรอบการจ้างงานของรัฐที่มีจำกัด นี่ทำให้หมดกำลังใจ

“ไม่ควรมีวิชาชีพไหนที่ต้องเป็นลูกจ้างรายวัน รัฐควรจะเปิดกรอบให้เรามากกว่านี้เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถได้เข้ามาทำประโยชน์ต่อผู้ป่วย ยังมีผู้ที่รอความช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัดอีกมายมายจริงๆ” ทักศินาภรณ์ ระบุ