ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เผยผลงานปี 63-64 จัดการปัญหาโฆษณา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 3,000 คดี ปรับไปกว่า 41 ล้านบาท พร้อมยกเลิกเลข อย. กว่า 4,700 รายการ ป้องกันผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อโฆษณาเท็จ-หลอกลวง


ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงผลการดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการผลิต นำเข้า จำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ช่วงระหว่างปี 2563 ถึงเดือน ม.ค. 2564 ตามแผนปฏิบัติการประจำปีและการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ อย. ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการสั่งระงับโฆษณาผิดกฎหมายและดำเนินคดีไปแล้ว 1,706 คดี พร้อมเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์ และสถานประกอบการทั้งสิ้น 3,053 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 41,429,250 บาท และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 446 คดี

ขณะเดียวกันได้ออกคำสั่งทางปกครอง โดยยกเลิกเลขสารบบอาหารจำนวน 874 รายการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเขื่อโดยไม่สมควร ในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ รวมไปถึงสถานที่ผลิต นำเข้า มีสภาพร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง 3,837 รายการ ด้วยสาเหตุการผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือไม่มีสภาพเป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง และปราบปรามการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 164 คดี โดยมีคดีที่สำคัญ เช่น การปราบปรามการลักลอบจำหน่ายชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ถุงมือตรวจโรคทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ยาทำแท้ง รวมมูลค่าของกลางกว่า 991,044,340 บาท

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า อย.ยังคงจะตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง โดยหากประชาชนพบเห็นหรือสงสัยโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือทาง https://www.fda.moph.go.th/