ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ สปสช. เตรียมประสาน 10 โรงพยาบาลนำร่อง ช่วยหนุนเสริมตรวจดีเอ็นเอ แก้ปัญหาผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ให้เข้าถึงบริการสุขภาพ


ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 99.98 แต่ก็ยังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งเกิดจากปัญหาไม่มีบัตรประชาชน โดยคนกลุ่มนี้มีประมาณ 5 หมื่นรายทั่วประเทศ

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวว่า โดยปกติแล้ว รัฐจะจัดสรรงบประมาณดูแลประชาชนให้ตามทะเบียนราษฎร์ และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดไว้ว่าจะดูแลเฉพาะคนไทย นั่นหมายความว่าผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนหรือผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

 ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การลงนามความร่วมมือ 9 หน่วยงาน สนับสนุนการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (ดีเอ็นเอ) ของผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนไทย และได้รับบัตรประชาชน

สำหรับความคืบหน้าจากความร่วมมือนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯ รุกนำร่องลงพื้นที่เพื่อตรวจพิสูจน์สถานะให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะแล้วใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ระยอง สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตรัง สงขลา และ กทม.

อย่างไรก็ตาม ด้วยคนไทยมีปัญหาสถานะทางทะเบียนไม่ได้มีแค่ 8 จังหวัด ฉะนั้นจากนี้จะมีการประสานโรงพยาบาลที่สนใจร่วมให้ความช่วยเหลือ เพื่อเข้าร่วมในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ทั้งการสัมภาษณ์ เก็บลายนิ้วมือ เก็บตัวอย่างเลือด ฯลฯ เพื่อส่งตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยเบื้องต้นจะนำร่องในโรงพยาบาล 10 แห่ง

พร้อมกันนี้ จะขยายความร่วมมือไปยังภาคประชาชน โดยใช้กลไกหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระตามมาตรา 50(5) เพื่อร่วมค้นหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ในการช่วยเหลือให้คนไทยกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิโดยเร็ว

อนึ่ง ความร่วมมือ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สปสช.