ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์-สปสช. พร้อมภาคีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมลงพื้นที่พิสูจน์ DNA ผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนกว่า 90 ราย จาก 3 อำเภอ จ.กาญจนบุรี คืนสิทธิขั้นพื้นฐาน-เข้าถึงการรักษาบัตรทอง


สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนในพื้นที่ อ.สังขละบุรี อ.ท่าม่วง อ.เมืองกาญจนบุรี และอำเภอใกล้เคียง รวมกว่า 90 ราย เข้ามาทำการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) ณ ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า แม้ สปสช.จะดูแลประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กว่า 47.5 ล้านคน ได้ครอบคลุมถึง 99.88% แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยส่วนใหญ่จะพบว่าไม่มีบัตรประชาชนมาแสดงตน จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ระหว่าง 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในปี 2563 ทำให้การช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียน มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐมากขึ้น

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การนำคนไทยไร้สิทธิในพื้นเข้ามารับการตรวจอัตลักษณ์ DNA นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ที่จะช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้แคบลง ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทำหน้าที่สอดประสานตามภารกิจ เพื่อเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนไทยที่เคยตกหล่นจากสังคม

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้บริการตรวจ DNA ให้กับบุคคลยากไร้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้ได้รับสิทธิทั่วไปในฐานะประชาชนคนไทย โดยมีการดำเนินการปีละประมาณ 1,600 ราย ซึ่งหากรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่าพื้นที่ใดมีจำนวนมากพอสมควรแล้ว ก็จะจัดแผนในการเดินทางไปตรวจพื้นที่ถึงภูมิภาคต่างๆ เช่นเดียวกับการตรวจในพื้นที่ อ.ท่าม่วง ครั้งนี้

ด้าน นายฑรัท เหลืองสะอาด นายอำเภอท่าม่วง กล่าวว่า อ.ท่าม่วง เองมีเป้าหมายให้ประชาชนมีความเสมอภาค โดยพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ พร้อมดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยหากเป็นผู้ยากไร้ก็จะช่วยประสานขอยกเว้นค่าตรวจ DNA และประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัด ให้ดำเนินการช่วยเหลือสงเคราะห์อื่นๆ 

"จึงอยากสื่อสารให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนอยู่ขณะนี้ ให้เข้ามาขอคำแนะนำในการยื่นพิสูจน์สิทธิและทำเอกสารยื่นเรื่องได้ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งได้ด้วยตนเอง" นายฑรัท กล่าว