ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ผนึกกำลังเครือข่ายภาครัฐ-ประชาชน ลงพื้นที่ ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ลุยช่วยคนไทยไร้สิทธิให้ได้บัตรประชาชน หวังช่วยเข้าถึงบริการสุขภาพ 'บัตรทอง' ตามสิทธิให้มากขึ้น พร้อมจับมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อบรมพร้อมฝึกปฏิบัติ จนท.โรงพยาบาลเก็บ DNA คนไทยไร้สิทธิส่งตรวจพิสูจน์ความเป็นคนไทย หากผลยืนยันตามสิทธิให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ใน 1 ปี


เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นางทิพาพรรณ หอศิวาลัย ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัดที่ 2 (กาญจบุรี และสุพรรณบุรี) สปสช. เขต 5 ราชบุรี และ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ลงพื้นที่ไปยัง จ.กาญจนบุรี เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือกับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ในการสนับสนุนการเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ในระดับพื้นที่ และพัฒนาโรงพยาบาลต้นแบบเพื่อสนับสนับสนุนการเข้าถึงการพิสูจน์สถานะบุคคล ให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยเป็นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาชน ได้แก่ ภาคีเครือข่ายมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 50(5) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.กาญจนบุรี 

1

3

สำหรับการหารือดังกล่าว เป็นผลจากโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ที่สืบเนื่องจาก บันทึกความร่วมมือ (MOU) เมื่อปี พ.ศ. 2563 ของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กระทรวงยุติธรรมโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธีพัฒนาที่อยู่อาศัย องค์กรแพลน อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย และ สปสช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบบัตรทอง 

นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เปิดเผยว่า การให้บริการสุขภาพกับคนไทยไร้สิทธิ ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ ตามนโยบายของโรงพยาบาลจะต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่าย เพราะโรงพยาบาลต้องการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอันดับแรก 

อย่างไรก็ตาม การให้บริการสุขภาพดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพใดๆ ได้ ฉะนั้นหากมีการร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามเพื่อให้คนไทยไร้สิทธิกลุ่มนี้ได้เข้าถึงบริการสุขภาพ จะเป็นการสร้างประโยชน์ต่อระบบบริการุสขภาพในภาพรวมของประเทศได้ 

2

"โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พร้อมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม กับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแต่ยังเป็นคนไทยไร้สิทธิ เพื่อส่งต่อให้มีการตรวจ DNA เพื่อยืนยันความเป็นคนไทย และมุ่งหวังให้เกิดเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในจังหวัดที่มีการจัดการปัญหาคนไทยไร้สิทธิอย่างเป็นระบบ โดยความร่วมมือของหน่วยงานและประชาสังคมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง" รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กล่าว   

ด้าน นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะทางทะเบียนที่เป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตรประชาชน นับเป็นอีกกลุ่มประชาชนที่เปราะบางและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก อีกทั้งยังอยู่ในสังคมด้วยความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงตัว แต่มักจะพบได้เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งต้องมายังหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล 

นพ.ขวัญประชา กล่าวต่อไปว่า แม้จะเป็นคนไทยไร้สิทธิ หรือคนไทยที่รอการพิสูจน์สัญชาติก็ตาม ควรมีสิทธิในการเป็นคนไทยทุกประการในการเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ทางสังคมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาอย่างมาก ขณะเดียวกันโรงพบาบาล หรือหน่วยบริการที่ดูแลรักษา ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่สามารถเบิกได้ 

2

รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หน่วยบริการต่างต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้าเพื่อรักษาชีวิต และดูแลสุขภาพประชาชนให้พ้นจากการเจ็บป่วยเป็นลำดับแรก ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งที่ให้บริการรักษาสุขภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะกับคนไทยไร้สิทธิ หรือคนที่ยังรอพิสูจน์สิทธิที่ให้การรักษาไปแล้ว ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช. ได้ เพราะยังติดปัญหาเรื่องการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถยืนยันสิทธิการรักษาได้ ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ อีกทั้งยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันทำให้เกิดการพิสูจน์สิทธิให้กับคนไทยไร้สิทธิ ได้มีสิทธิสวัสดิการทางสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการมีบัตรประชาชนจะช่วยให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้เมื่อยามเจ็บป่วย ด้วยการเล็งเห็นนี้จึงนำมาความร่วมมือกันกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อทำงานเชิงรุกในการเข้าถึงคนไทยไร้สิทธิ ช่วยดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะทางทะเบียน รวมถึงการตรวจทางพันธุกรรม เพื่อยืนยันผลพิสูจน์ อันจะเป็นหลักฐานยืนยันสิทธิความเป็นคนไทยได้ 

4

"สปสช.ให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิไปก่อน หากมีการพิสูจน์สิทธิในภายหลังแล้ว โรงพยาบาลสามารถขอเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยย้อนหลังได้ในระยะ 1 ปี ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล อีกทั้งเป้าหมายคือทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว 

พร้อมกันนี้ สปสช. ยังได้เข้าร่วมกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการออกหน่วยบริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ให้กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ และผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นที่เรียบร้อย ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนวิจิตรวิทยาคาร ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ร่วมกับเครือข่ายอีก 8 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงาน DSI โดยมีการมอบบัตรประชาชนใบแรกหลังพิสูจน์สัญชาติให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G จำนวน 90 คน เพื่อให้กลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และมีสิทธิทางด้านรักษาพยาบาล ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการทางสังคมอื่น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw