ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

www.vox.com เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 รายงานข่าวเกี่ยวกับความพยายามปฏิรูประบบประกันสุขภาพของวุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางไปเรียนรู้ระบบที่ประเทศแคนาดา ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ทำเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จมานานแล้ว

การเดินทางไปเมืองโตรอนโต ได้เปิดเผยความจริงที่ยากที่จะยอมรับได้เกี่ยวกับการนำระบบผู้ซื้อรายเดียวมาใช้ในอเมริกา

เมืองโตรอนโต ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายเบอร์นี่ แซนเดอร์ (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิก ผู้สมัครอิสระจากมลรัฐเวอร์มอนท์ ได้บินจากเมืองวอร์ชิงตัน ดีซี ไปยังเมืองโตรอนโต ในที่นั่งแคบ ๆ ในแถวที่ 21 ของเครื่องบินเล็ก

“ผมมาที่นี่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพของพวกคุณ” นายแซนเดอร์ ได้บอกกับผู้หญิงที่นั่งแถวหลัง ซึ่งขอถ่ายภาพเซลฟี่กับเขา เมื่อเครื่องบินลงจอดในแคนาดา หญิงคนดังกล่าวได้บอกเขาว่าเธอเคยเป็นชาวอเมริกัน และก็ยังยินดีที่จะถ่ายภาพ 

นายแซนเดอร์ได้บินไปเมืองโตรอนโต เพื่อร่วมงานที่ทีมงานของเขาเรียกชื่อว่า “การศึกษาดูงานข้ามแดน เรื่อง “ระบบผู้ซื้อรายเดียวในประเทศแคนาดา” (The Cross-Border Learning Tour: Single Payer Healthcare in Canada) นายแซนเดอร์เพิ่งเสนอร่างกฎหมายสู่รัฐสภา เกี่ยวกับการสร้างระบบคล้าย ๆ กับประเทศแคนาดาขึ้นในอเมริกา โดยมีชุดสิทธิประโยชน์เพียงชุดเดียวของรัฐบาลสำหรับประชาชนทุกคน   

เป็นช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจที่จะศึกษาระบบประกันสุขภาพของประเทศแคนาดา ดังนั้นเขาจึงเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างห้องประชุมกับห้องปฏิบัติการ ไปพูดคุยกับแพทย์ ผู้ป่วย และผู้บริหารโรงพยาบาล เขานำผู้สื่อข่าวร่วมเดินทางไปกับเขาด้วย 4 คน รวมทั้งยังมีช่างภาพ และช่างวิดิโออีกหลายคนร่วมทีมไปด้วย 

เขาได้เข้าเยี่ยมและให้การสนับสนุนอย่างดีกับระบบบริการสุขภาพแคนาดา การเดินทางครั้งนี้ช่วยทำให้ความตั้งใจของเขาชัดเจนยิ่งขึ้น หลายคำถามของเขา เป็นสิ่งที่เขาก็รู้คำตอบอยู่แล้ว เช่น เมื่อเขาถามว่า “จริงหรือไม่ที่ชาวแคนาดา ไม่สามารถเลือกหมอของตนเองได้ ?” 

ผู้ฟังที่นั่งอยู่ด้านหลังหลายคนที่เป็นหมอ ต่างก็ฮึมฮัม ว่า “ไม่, นั่นไม่เป็นความจริง” 

“ไม่จริง!” ท่านวุฒิสมาชิกกล่าวขึ้นด้วยท่าทีแกล้งตกใจ  “ผมแปลกใจมาก!”

แต่ไม่มีใครทันได้สังเกต ในช่วงสุดท้ายของการศึกษาดูงาน ในโถงใหญ่ของโรงพยาบาล ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ได้ตั้งใจชี้ไปยังความท้าท้ายที่ใหญ่หลวงของการนำเข้าระบบประกันสุขภาพของประเทศแคนาดาไปยังอเมริกา

เป็นช่วงหลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้ถามนายแซนเดอร์ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาคิดว่าน่าสนใจที่สุดของการศึกษาดูงานครั้งนี้ 

“การได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่พูดว่า “พวกเราเชื่อว่า เรื่องบริการสุขภาพเป็นเรื่องของสิทธินั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ” นายแซนเดอร์ กล่าว “ผมคิดว่า ถ้าคุณได้พูดคุยกับผู้คนบนท้องถนน คุณจะแปลกใจที่พบว่า มีหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าเขาไม่มีเงิน”

เขายังชี้ให้เห็นช่องว่างของค่านิยมแท้จริงที่แบ่งแยกอเมริกาออกจากแคนาดา จากผลการสำรวจของ Gallup poll พบว่า ร้อยละ 52 ของชาวอเมริกันเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรเป็นผู้รับรองการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 45 ไม่เห็นด้วย  

นายแซนเดอร์พบว่า ในการเสนอระบบผู้ซื้อรายเดียว (single-payer system) ใช้ในอเมริกานั้น มีอุปสรรคมากมายทั้งด้านนโยบาย และด้านปรัชญาพื้นฐาน ชาวอเมริกันก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า เรื่องของประกันสุขภาพนั้น ควรเป็นเรื่องของสิทธิ หรือไม่? เรายังไม่ได้ตัดสินใจด้วยว่า ควรจะเริ่มต้นให้รัฐบาลเป็นผู้รับรองการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชนทุกคนหรือไม่   

ระบบของประเทศแคนาดา เป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันล้วน ๆ

นายแซนเดอร์ กล่าวว่า “พวกเรามองหาทั่วโลก พวกเราถามคำถามยากกันว่า เราสามารถจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพของเราดียิ่งขึ้น? งานของพวกเราในอเมริกา ก็คือ การเรียนรู้จากแคนาดา และจากประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้” 

จากคำแนะนำของเขา ผลการสำรวจระบบของประเทศต่าง ๆ พบว่าตัวรูปแบบที่เป็นไปได้มากมาย ตัวอย่างเช่น ในอังกฤษ นอกจากจะมีประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังมีการจ้างแพทย์ให้ทำงานอยู่ในภาครัฐด้วย ในประเทศเยอรมัน มีแผนคุ้มครองความเจ็บป่วย (Sickness plans) ของภาคเอกชนจำนวนมากที่แข่งขันอยู่ในระบบที่มีการควบคุมกำกับที่เข้มงวด หรือในประเทศออสเตรเลีย ที่มีประกันสุขภาพภาครัฐเป็นแผนใหญ่อยู่แผนเดียว แต่ประชาชนก็สามารถที่จะซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพื่อการยืนยันในการเข้าถึงบริการได้รวดเร็วขึ้น หรือที่อยู่ใกล้บ้านขึ้น เป็นต้น

แต่กฎหมาย Medicare สำหรับทุกคน (Medicare-for-all) ที่นายแซนเดอร์เสนอเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น ใกล้เคียงกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันสูงกว่าประเด็นด้านอื่น ๆ

หลักการสำคัญของระบบบริการสุขภาพของแคนาดา คือ ความเชื่อที่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมือนกันไม่ว่าจะมีรายได้อยู่ในระดับใดก็ตาม ดังที่นักวิชาการท่านหนึ่งอ้างไว้ในบทความ ที่ว่า “ชาวแคนาดา ไม่กังวลว่าต้องรอคิวการเข้ารับบริการนานเพียงใด ตราบใดที่ทุกคน ไม่ว่าจะยากดี มีจนอย่างไร ต่างก็รออยู่ในแถวเดียวกัน” 

ระบบผู้ซื้อรายเดียวของแคนาดา เป็นระบบที่มีลักษณะเฉพาะ ที่ห้ามให้มีแผนประกันสุขภาพภาคเอกชนออกมาแข่งขันกับความครอบคลุมของภาครัฐ  

ตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย และอังกฤษ แผนประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมทั้งที่โรงพยาบาล และคลินิกของแพทย์ เป็นการตัดสินใจของแต่ละประเทศ ซึ่งถ้าเห็นด้วย ก็เป็นการยอมรับให้ประชาชนที่ยอมรับการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ในแคนาดา การทำแบบนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย

นาย Robin Osborn ผู้อำนวยการของ the Commonwealth Fund’s International Health Policy program กล่าวว่า “แคนาดาได้มีความพยายามอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงการมี 2 ระบบ ความเชื่อในความเท่าเทียมกัน เป็นหลักการสำคัญมากในแคนาดา ที่ทุกคนเห็นชอบ” 

อีกสัญญาณหนึ่งของความเท่าเทียมกันในระบบบริการสุขภาพของแคนาดาคือ ความจริงที่ว่า เป็นระบบที่ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย เมื่อเข้ารับการรักษา ประเทศอื่น ๆ ที่มีระบบสุขภาพแนวสังคมนิยม เช่น ออสเตรเลีย และไต้หวัน ต่างก็มีการเก็บค่าธรรมเนียม ณ คลินิกแพทย์  (ถึงแม้ว่า จะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมนี้ สำหรับผู้มีรายได้น้อยก็ตาม)

ซึ่งนายแซนเดอร์ยังโต้แย้งว่า ระบบบริการสุขภาพของแคนาดาเป็นระบบที่ถูกต้อง และยังกล่าวว่า เขาได้เคยพิจารณา “การร่วมจ่าย” สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอเมริกา แต่สุดท้ายก็กลับลงมาที่ว่า ระบบของแคนาดาทำได้อย่างไร? 

วุฒิสภาชิก ที่มักจะมีข้อเสนอที่ขัดแย้งกับพวกมหาเศรษฐี ก็ไม่เห็นมูลค่าของการขอรับเงินร่วมจ่ายจากคนกลุ่มนี้เมื่อเข้ารับการรักษา โดยเขาได้ให้เหตุผลว่า พวกเศรษฐีก็ได้จ่ายเงินมากกว่าอยู่แล้วผ่านระบบภาษี ดังนั้นเมื่อพวกเขาเข้ารับการรักษา ก็ควรได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มคนจน โดยไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษเพิ่ม พวกเขายังจำเป็นต้องเข้าคิวเพื่อรับการรักษาเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ควรที่จะถูกเรียกเก็บเงินด้วยเช่นกัน 

Kathleen Wynne มุขมนตรีของรัฐ Ontario ได้กล่าวถึงบริการสุขภาพในรัฐของเธอว่า “เรามาแนวคิดที่ชัดเจนมากว่า บริการสุขภาพเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ควรให้กับทุกคน ฉันเข้าใจว่า บางครั้งเราก็ไม่อยากจะรอ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็โชคดีแค่ไหนแล้วที่เราไม่ต้องอยู่ใกล้ความตาย? นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราคิด เกี่ยวกับบริการสุขภาพ การจะเลือกให้บริการสุขภาพของประเทศเป็นอย่างไรนั้น เป็นค่านิยมหลักของประเทศนั้น” 

ในเช้าวันอาทิตย์ ณ ห้องบรรยายใหญ่ของสถาบัน มีผู้เข้าร่วมฟังปราฐกถาของนายแซนเดอร์ ประมาณ 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา โดยมีนักศึกษาส่วนหนึ่งมาเข้าแถวรอตั้งแต่ตี 5 เพื่อรับบัตรเข้าร่วมงาน (นายแซนเดอร์ เป็นคนดังในแคนาดา มีเจ้าหน้าที่ดูแลประตูในสนามบินซึ่งได้ถ่ายภาพเซลฟี่กับเขา ได้บรรยายภาพนั้นว่า “เป็นวันเสาร์ที่ดีที่สุดในชีวิต ของผม”)    

มีวงดนตรีสตริงบรรเลงระหว่างรอนายแซนเดอร์ขึ้นบรรยาย เขาได้กล่าวปาฐกถากับชาวต่างชาติ ราวกับว่าเขากำลังปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง

“จุดสำคัญที่สุดที่ผมต้องการกล้าวในที่นี้ ก็คือ การเลือกจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนของประเทศนั้น ไม่ใช่แค่จะจัดบริการทางการแพทย์อย่างไร แต่เป็นการแสดงถึงค่านิยมหลักของประเทศที่จะให้กับประชาชน”   

โดยเขาได้ชี้ให้เห็นว่า อเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีการรับรองสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน มีชาวอเมริกันประมาณ 28 ล้านคน ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ และจำนวนนี้อาจจะเพิ่มสูงมากขึ้น ในยุคที่มีการบ่อนทำลาย Affordable Care Act อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์   

นายแซนเดอร์ มักจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นการละเมิดค่านิยมของชาวอเมริกัน หรือนี่อาจจะเป็นภาพสะท้อนของพวกเขาก็ได้ ผลการสำรวจความเห็นส่วนใหญ่มักจะพบว่ามีเสียงจำนวนน้อยของคนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่ารัฐบาลควรเป็นผู้รับรองการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน โดยผลการสำรวจของ Gallup พบว่า ร้อยละ 52 ของชาวอเมริกันสนับสนุนแนวคิดนี้ ส่วนการประมาณการของศูนย์วิจัย Pew อยู่ที่ร้อยละ 57 และผลการสำรวจของมูลนิธิครอบครัว Kaiser อยู่ที่ร้อยละ 53 ที่สนับสนุนประกันสุขภาพที่ดำเนินงานโดยรัฐบาล แต่การสนับสนุนนี้ลดลงอย่างมาก เมื่อสอบถามถึงอัตราภาษีที่อาจจะสูงมากขึ้นตามมา

“ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ได้บอกกับ Dylan Scott เพื่อนของผมว่า อย่างไรก็ตามชาวอเมริกัน ก็ยังรู้สึกสบายใจมากกว่ากับการที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดบริการสุขภาพ โดยที่พวกเขาไม่ต้องทนเข้าแถวรอเข้ารับการรักษาในระบบที่นายแซนเดอร์เสนอ”

Drew Altman ประธานมูลนิธิครอบครัว  Kaiser กล่าวกับนาย Scott ว่า “คนจำนวนมากในประเทศอาจจะพร้อมมาก สำหรับแนวคิดของระบบผู้ซื้อรายเดียว พวกเขาอาจจะยอมรับเป้าหมายที่มาพร้อมกันด้วย นั่นก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการสุขภาพเป็นสิทธิ” 

“ซึ่งนี่ก็ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับว่า ประเทศจะไปทางไหน หลังจากที่มีการหารือในทางปฏิบัติจริง ทั้งเกี่ยวกับการออกกฎหมาย รายละเอียดปฏิบัติต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ”  

เมื่อต้นปีนี้ The New Yorker ได้เผยแพร่บทความของ Atul Gawande ที่ได้เดินทางไปพื้นที่ Appalachian ในมลรัฐโอไฮโอ เพื่อสอบถามคำถามว่า “บริการสุขภาพควรเป็นสิทธิหรือไม่”  

สิ่งหนึ่งที่เขาพบบ่อย ๆ ก็คือ การต่อต้านกับการกำหนดให้บริการสุขภาพเป็นสิทธิสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ควรจะได้รับ เช่น ความเห็นของบรรณารักษ์คนหนึ่ง ที่บอกว่า “สำหรับคนพิการ ผู้ป่วยโรคจิต ก็สมควรที่จะได้รับสิทธิในระบบ Medicaid แต่สำหรับคนบางกลุ่มนั้นไม่ควรให้ เพราะพวกเขาขี้เกียจ” 

หรือความเห็นของชายคนหนึ่ง ที่บอกว่า “ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนถนนเดียวกับผม ผมไม่เคยเห็นเขาทำงานอะไรเลยในชีวิตของเขา เขาดูสุขภาพดีกว่าผม แต่เขาอยู่ได้ด้วยรายได้สำหรับคนพิการ”  

นอกจากนี้ บันทึกของนาย Gawande ยังระบุว่า "สิทธิ ไม่ได้จำแนกระหว่าง การจำเป็น กับการไม่จำเป็น” แต่เขาก็มักจะพบว่า นี่คือปัจจัยสำคัญที่แบ่งแยกความเห็น เมื่อเขาถามว่า ทุกคนควรได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพหรือไม่ ก็มักจะลงมาที่ประเภทของคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือหรือไม่

ในปาฐกถาของเขา ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโต นายแซนเดอร์ได้แย้งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นผลลัพธ์ของการปฏิวัติทางการเมือง

เขาเคยเล่าเรื่องนี้กับ Tommy Douglas ผู้ซึ่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในแคนาดาเป็นครั้งแรก ในรัฐ Saskatchewan (Douglas เป็นนามสกุลในแคนาดา และได้รับเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีในหอประชุม เมื่อนายแซนดอร์กล่าวถึงชื่อนี้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจความเห็นของ CBC ยังพบว่า ประชาชนเห็นว่า Douglas เป็นชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียงมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา)

นายแซนเดอร์โต้แย้งว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ Tommy Douglas กล่าว, ‘ผมมีความฝัน และสิ่งนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดีมาก’ เขาสามารถดำเนินงานตามโครงการของเขาได้ เพราะพรรคการเมืองของเขา ชนะเสียงเลือกตั้ง 47 ที่นั่งจาก 52 ที่นั่งในปี ค.ศ. 1944”

แนวคิดนี้ทำให้รู้สึกเหมือนตอนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2016 ของนายแซนเดอร์ ซึ่งเขามักจะพูดถึงแนวคิดแตกแยกทางการเมืองของฝ่ายซ้าย แต่ในปี ค.ศ. 2017 นี้ ทำให้รู้สึกว่ามีความคิดในแง่ร้ายมากขึ้น    

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน ไม่ได้เลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายขยายความครอบคลุมด้านสุขภาพให้กับชาวอเมริกันทุกคน ไม่มีการปฏิวัติทางการเมืองลงมาจนถึงระดับปฏิบัติ แต่ในทางกลับกันชาวอเมริกันลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่ต้องการรื้อ the Affordable Care Act มาทำหน้าที่บริหารรัฐบาลและรัฐสภา

ในการเดินทางไปแคนาดาครั้งนี้ นายแซนเดอร์ดูเหมือนจะจำได้ว่า หลักการสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เช่นของแคนาดานี้ คือ ความเชื่อของประชาชนที่ว่า ประชาชนทุกคนควรสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเขามั่นใจว่า ความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วไปในอเมริกาด้วยเช่นกัน  

นายแซนเดอร์ กล่าวว่า “ความจริงแล้ว ในอเมริกาผมก็คิดว่าประชาชนก็มีความเชื่อว่า บริการสุขภาพเป็นสิทธิ โดยที่ไม่สนใจว่า คุณจะเป็นคนจน หรือคนรวย”  

แต่ผลการสำรวจความเห็น และการรายงานมักจะตรงข้าม พวกเขามักจะแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันความเชื่อนี้ไม่มีอยู่จริงในอเมริกา คำถามคือ นายแซนเดอร์จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? เขาจะสามารถชักจูงชาวอเมริกันให้เห็นระบบบริการสุขภาพเหมือนกับที่เขาและชาวแคนาดาเห็นได้หรือไม่? 

แปลจาก What Canada taught Bernie Sanders about health care โดย Sarah Kliff ([email protected]