ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เข้าใจหัวอกผู้ป่วย พร้อมให้คำปรึกษา-กำลังใจ วอนแพทย์ให้คำปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์แก่ผู้ป่วย


นายสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กล่าวในเวทีเสวนา “รับมือ ... เรียนรู้สู้มะเร็ง วันมะเร็งโลก กับอดีตผู้ป่วยและคุณหมอ” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ตอนหนึ่งว่า เคยมีประสบการณ์ผ่านตัดใส่ทวารเทียมเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์ได้ยกลำไส้มาไว้ที่หน้าท้อง จึงเข้าใจความยากลำบากของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอย่างดี ทั้งเชิงสุขภาพ ความกังวลในการเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน

นายสมบัติ กล่าวว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเครียดหลายประการ เช่น เครียดจากภาวะโรค การดูแลทวาร ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และร่วมกันผลักดันให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มสิทธิที่ครอบคลุมขึ้น

“อย่างล่าสุดเราได้ผลักดันเรื่องถุงปัสสาวะ ซึ่งทาง สปสช. ก็ได้อนุมัติให้แล้ว ส่วนข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยก็คืออย่าทำตัวเป็นผู้ป่วย ให้ปฏิบัติตนเหมือนกับคนปกติ ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นตามมา ส่วนสิ่งที่อยากฝากแพทย์ผู้รักษาก็คือการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยอยากรู้แต่ไม่ค่อยกล้าถาม” นายสมบัติ กล่าว

ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กล่าวต่อไปว่า การทำงานของเครือข่ายผู้ป่วยในขณะนี้ คือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องผ่าตัดใส่ทวารเทียม หรือทวารใหม่ ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน 

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายได้จัดอบรมให้ทั้งคนไข้เก่าและใหม่ ปีละ 2-3 ครั้ง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มลำไส้ใหญ่ 2. กลุ่มลำไส้เล็ก 3. กลุ่มที่ต้องเปิดลำไส้เล็กช่วงทางเดินปัสสาวะ โดยสิ่งสำคัญคือนอกจากตัวของผู้ป่วยเองแล้ว ญาติหรือผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความเข้าใจด้วย 

“จากการอบรมพบว่าคนไข้กลุ่มนี้ไม่ได้แค่กังวลเรื่องการติดอุปกรณ์ แต่ยังมีความกังวลเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น มีความกังวลเรื่องกลิ่น หรือแก๊สที่อาจจะเกิดจากอาหารที่ได้รับประมานเข้าไปด้วย” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวได้รับความรู้จากแพทย์และพยาบาลว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถรับประทานได้ทุกอย่าง แต่ก็ต้องมาดูว่าทานอย่างไรให้ไม่กระทบต่อทวารที่เพิ่งเปิด เช่น เปิดลำไส้เล็กก็ต้องระวังเรื่องการอุดตันจากกากใยสูงๆ หรือเปิดทางเดินปัสสาวะก็ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่น เป็นต้น

สำหรับนโยบาย “มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่เพิ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างมาก เพราะลดข้อจำกัดและแก้ปัญหาเรื่องลดระยะเวลาการรอคอย และยังไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยความรวดเร็ว

อนึ่ง ผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ “มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง” โทร. 085-442-4914 หรือ Facebook “บ้านทวารใหม่ ทวารเทียม”