ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดือนมีนาคมของทุกปี ทั่วโลกยกให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้าน “มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง”

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นโรคมะเร็งที่ติด TOP 5 ของประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ราวปีละ 1.3 หมื่นราย และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงนั้น ระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่จะพบอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามไปมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย

70% ของผู้มาพบแพทย์ป่วยระยะสุดท้าย โดยการพัฒนาของโรคนี้ ใช้เวลาราว 10-15 ปี

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตประมาณปีละ 5,000 คน สาเหตุของการเกิดโรคมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยง

ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปที่ปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารที่มีไขมันสูง อาหารฟาสฟูดส์

มากไปกว่านั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นเพิ่มด้วย ทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และจะค่อยๆ พัฒนาจนเป็นมะเร็ง

อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดเรื้อรัง

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อัตราการเกิดมะเร็งลำไส้เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอายุมากกว่า 50 ปี

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากกว่า 90% มีอายุมากกว่า 50 ปี และยิ่งในช่วงอายุ 60-79 ปีพบว่า มีโอกาสเสี่ยงมากถึง 50 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 40 ปี

ทว่า ในปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ในกลุ่มคนอายุ 20-49 ปี เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็ง “ที่สามารถตรวจคัดกรอง” เพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง

ปัจจุบันประชาชนอายุ 50-70 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา กรณีพบผลผิดปกติจะได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อวินิจฉัยต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เล่าว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ป่วยบัตรทอง ในการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 50 – 70 ปี ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง นอกเหนือจากกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ด้วย

นอกจาก เมื่อปี 2562 บอร์ด สปสช. ยังได้เพิ่มรายการถุงทวารเทียม (Colostomy Bag) เป็นอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทางด้าน นายสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก บอกว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งจะมีปัญหาและอุปสรรคในการรักษา อาทิ ระยะเวลาการรอคอยรับบริการค่อนข้างนาน การทำคีโม หรือฉายแสงต่างๆ ที่ล่าช้า หรือการต้องขอใบส่งตัวใหม่เกือบทุกครั้ง เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลารักษานานหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ สธ. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศนโยบาย “มะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้” ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เร็วขึ้น ต่อเนื่อง ส่วนตัวมองว่านโยบายนี้ดีมาก แต่ระยะแรกอาจมีความขลุกขลักในการให้บริการบ้าง ก็ต้องพัฒนากันต่อไป

“บุคลากรให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงแนะนำให้ไปรับบริการในเขตสุขภาพของตัวเองก่อน เพื่อความสะดวก ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ระบุ