ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ทั้งช่วยลดความยากจนลงได้ ทำให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ในปี 2563 นี้ ในแต่ละปีช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นจาก 111.95 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 184.56 ล้านครั้ง ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.45 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เป็น 3.84 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2561 ขณะที่การใช้บริการผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้นจาก 4.30 ล้านครั้ง ในปี 2546 เป็น 6.22 ล้านครั้ง ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 0.094 ครั้ง/คน/ปี ในปี 2546 เป็น 0.127 ครั้ง/คน/ปี ในส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยาราคาแพงที่มีความจำเป็นที่รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ การเพิ่มวัคซีนครอบคลุม และล่าสุดการเพิ่มสิทธิประโยชน์โรคหายาก เป็นต้น

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ด้วยการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ประชาชนไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ทำให้ครอบครัวล้มละลายลดลงอย่างมาก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ยกย่องว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยช่วยลดความยากจนได้ และเมื่อประชาชนสุขภาพแข็งแรงก็เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ช่วยเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ และจากดัชนีการลดภาระรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลของครัวเรือน จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากร้อยละ 7.07 (7.7 แสนครัวเรือน) ในปี 2533 เหลือร้อยละ 2.26 (4.8 แสนครัวเรือน) ในปี 2560 และครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลดลงจากร้อยละ 2.34 (2.5 แสนครัวเรือน) ในปี 2533 เหลือร้อยละ 0.24 (5.2 หมื่นครัวเรือน) ในปี 2560