ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เอ็มโอยู คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือพัฒนางานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล


เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ เรื่อง การพัฒนางานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ณ อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1

พญ.ลลิตยา กองคำ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท คุ้มครองการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลให้กับคนไทยผู้มีสิทธิกว่า 47 ล้านคน รวมทั้งบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกสิทธิกว่า 66.8 ล้านคน ซึ่งในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และนวัตกรรมการบริการ เพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ จำต้องมีการใช้ข้อมูลงานวิจัยและหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อนำมาพัฒนางานและนำไปสู่การตัดสินใจในระดับนโยบาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

3

นอกจากนี้แผนปฏิบัติราชการ สปสช. ฉบับที่ 5 ปี 2566–2570 กำหนดกลยุทธ์เร่งรัดการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการคืนข้อมูลให้ประชาชน หน่วยบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจัดเตรียมข้อมูลให้พร้อมเผยแพร่ในรูปแบบ Open Data ให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงงานด้านวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข สปสช. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย พร้อมกำหนดโจทย์การวิจัยเพื่อนำมาพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนข้อมูลและเปิดช่องทางการเข้าถึงข้อมูลตามกรอบการออกแบบงานวิจัย และร่วมเรียนรู้ในการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์ที่กำหนด

"สปสช. รู้สึกยินดีอย่างยิ่งในพิธีลงนามความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนี้ ซึ่ง สปสช. ยินดีในการสนับสนุนการพัฒนาบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ชีวการแพทย์ทางด้านนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของ สปสช. และตรงกับความต้องการของประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

2

ด้าน รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะที่รวบรวมแหล่งความรู้ทางวิชาการหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข และได้พัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวการแพทย์ หรือ Biomedical Data Science Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีการผสมผสานของสาขาวิชาสถิติ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และสาขาวิชาในสังกัดของคณะสาธารณสุขศาสตร์ รวมถึงวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในการพัฒนาบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลชีวการแพทย์ ทางด้านนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งในด้านวิชาการ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข

"ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุน การผลิตและการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการนําข้อมูลสารสนเทศสุขภาพมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เชิงลึกด้วยวิธีการทางด้านชีวสถิติ ระบาดวิทยา และนวัตกรรมข้อมูล รวมถึงร่วมกันพัฒนา สร้างสรรค์ และต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต เพื่อนําผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายเพื่อนําไปสู่การพัฒนานโยบายสุขภาพของประเทศต่อไป" คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว