ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่อนหนังสือด่วน ถึง ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด แจงยิบทุกกรณี ปมจัด ‘นักวิชาการสาธารณสุข’ เข้าสู่ตำแหน่ง ‘นักสาธารณสุข’


นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เรื่อง “การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักสาธารณสุข” ลงวันที่ 22 เม.ย. 2567 เพื่อชี้แจงรายละเอียดการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ของหน่วยงานสังกัด สป.สธ. ในประเด็นต่างๆ 

ทั้งนี้ สป.สธ. ได้สรุปเป็น 8 ข้อ โดยประกอบด้วย 1. ในการประชุม อ.ก.พ.สธ. ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเป็นนักสาธารณสุข จำนวน 1,459 ตำแหน่ง โดยให้หน่วยงานแจ้งผู้ที่มีคุณสมบัติยื่นแสดงความประสงค์ย้ายเปลี่ยนสายงานก่อนแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งตามที่ได้รับการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง และขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. และ สป.สธ. กำหนด โดยไม่ก่อนวันที่ อ.ก.พ.สธ. มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง

สำหรับกรณีที่ยังไม่ได้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง เนื่องจากต้องพิจารณาคุณวุฒิที่มีความหลากหลาย รวมถึงให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่ง ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่งสายงานที่ถูกกำหนดเป็นกรอบระดับตำแหน่ง ระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งที่มีชื่อทางการบริหาร เช่น สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ที่อยู่ใน รพ.สต. และตำแหน่งที่โครงสร้างไม่ได้กำหนดให้มีตำแหน่งนักสาธารณสุขกลุ่มงานบริหารทั่วไปในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ยังไม่สามารถปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งได้ เพราะอยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์

2. เพื่อให้การกำหนดตำแหน่ง และแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งนักสาธารณสุขเป็นไป ตามมติ อ.ก.พ.สธ. ดังกล่าว จึงขอให้ สสจ. โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ดำเนินการดังนี้ 2.1 กรณีผู้ที่ได้รับการกำหนดตำแหน่งตามมติ อ.ก.พ.สธ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 และประสงค์ขอย้ายเปลี่ยนสายงาน เมื่อมีคำสั่งย้ายข้าราชการไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักสาธารณสุขแล้ว ให้จัดส่งคำสั่งให้ สป.สธ. ตรวจสอบ ภายใน 5 วันทำการ

2.2 สำรวจความประสงค์ขอย้ายเปลี่ยนสายงานของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ที่ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข และสำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะกำหนดตำแหน่งตามข้อ 1 ให้แสดงความประสงค์ด้วย หากประสงค์ขอย้ายเปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข สป.สธ. จะจัดสรรตำแหน่งสำหรับย้ายต่อไป โดยการตรวจสอบคุณวุฒิตามหลักสูตรที่ ก.พ. รับรอง

2.3 บันทึกคำขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ (HROPS) ของผู้ประสงค์ขอย้ายเปลี่ยนสายงานและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เพื่อขอเปลี่ยนชื่อตำแหน่งในสายงานเป็นตำแหน่งนักสาธารณสุข ตามแนวทาง โดยการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขให้เป็นไปตามโครงสร้างตำแหน่งสายงานที่ สป.สธ. กำหนด

2.4 เมื่อ อ.ก.พ.สธ. มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขแล้ว ให้จัดทำคำสั่งย้ายข้าราชการไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักสาธารณสุข เสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับแจ้งมติอนุมัติปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง และส่งคำสั่งให้ สป.สธ.

3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต้องเสนอ ก.พ. พิจารณา ได้แก่ 3.1 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอ (นักสาธารณสุข) และตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สต. (นักสาธารณสุข) เป็นระดับชำนาญการพิเศษ ในสังกัด สป.สธ. 3.2 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในโรงพยาบาลชุมชน อยู่ระหว่าง ก.พ. พิจารณา

3.3 หลักเกณฑ์เงื่อนไขการเปลี่ยนชื่อสายงานแพทย์และสายงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ (นักวิชาการสาธารณสุขใน รพ.สต.) 3.4 การขอเพิ่มตำแหน่งนักสาธารณสุขให้เป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง โดยการมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งนั้น ต้องไม่ก่อนวันที่ ก.พ. มีมติอนุมัติให้เป็นสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตามกฎ ก.พ. และไม่ก่อนวันที่ อ.ก.พ.สธ. มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงกำหนดตำแหน่ง

3.5 การกำหนดวุฒิปริญญาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนเป็นวุฒิคัดเลือก เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักสาธารณสุขปฏิบัติการในสังกัด สป.สธ. โดย สป.สธ. จะเสนอ อ.ก.พ.สป.สธ. และ อ.ก.พ.สธ. รวมถึง ก.พ. พิจารณาต่อไป 

4. กรณีการเลื่อนระดับสูงขึ้นอาจนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขมานับเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูลกับตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ไม่ก่อนวันที่มีคุณวุฒิปริญญาสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ หรือได้รับปริญญาหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่ ก.พ. กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้ และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน โดยการนับระยะเวลาที่เกี่ยวข้องหรือเกื้อกูล จะต้องเสนอคณะกรรมการประเมินบุคคล ที่ อ.ก.พ.สป.สธ. แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณา โดยพิจารณาจากลักษณะงานที่ปฏิบัติงานอยู่จริงตามข้อเท็จจริงและคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ

5. การปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งผู้มีคุณสมบัติตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ (ตำแหน่งมีคนครอง) เป็นตำแหน่งนักสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ขอให้หน่วยงานจัดทำแบบประเมินค่างานในตำแหน่งนักสาธารณสุข และส่งให้ สป.สธ. เพื่อเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป 

6. การปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขชำนาญการ เป็นระดับชำนาญการพิเศษ หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2558

7. กรณีผู้มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข หรือตำแหน่งที่มีชื่อทางการบริหาร ซึ่งตำแหน่งตาม จ.18 อยู่ใน รพ.สต. หากประสงค์เปลี่ยนสายงานเป็นนักสาธารณสุข เขตสุขภาพอาจพิจารณานำตำแหน่งว่างอื่นมาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นตำแหน่งนักสาธารณสุข สำหรับย้ายคุณสมบัติดังกล่าว 

8. การเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขของประเภทจ้างอื่น ได้แก่ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง (รายเดือน) อยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตามสัญญาการจ้างงาน ผลเป็นประการใดจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป โดย สป.สธ. จะชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามหนังสือฉบับนี้ ผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 23 เม.ย. 2567 เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป

คลิกอ่านหนังสือฉบับเต็มได้ทางไฟล์แนบด้านล่าง