ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปสช. เผยสถานการณ์บำบัดทดแทนไตสิทธิบัตรทอง ใช้งบประมาณทะลุเป้า-เพิ่มขึ้นทุกปี หวั่นเกิดปัญหาในอนาคต ย้ำทางออกคือการชะลอโรค-หยุดผู้ป่วยหน้าใหม่ พร้อมหนุนนวัตกรรมคัดกรองโรคไตที่พัฒนาโดยคนไทยแบบสุดซอย


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยบนเวที "รู้ใจ ไม่รู้ไต : ร่วมชะลอภัยโรคไตด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมไทย" เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2567 ระบุว่า สปสช. ได้เข้ามาคุ้มครองรักษาบำบัดทดแทนไตให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท มาตั้้งแต่ปี 2551 แม้ว่า สปสช. จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 แต่กว่าจะมีชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคไตให้เข้าถึงการบำบัดทดแทนไตได้ก็ต้องใช้ระยะเวลา นั่นเพราะโรคไตเรื้อรังถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เราเรียกได้ว่าเป็น 'โรคล้มละลาย' เพราะเป็นโรคที่ต้องใช้งบประมาณสูงในการดูแลรักษา และต้องรักษากันต่อเนื่อง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในช่วงแรก สปสช. ให้การรักษาแบบล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีการแรกในการบำบัดทดแทนไต เพราะสะดวกกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมากกว่า ที่ไม่ต้องพาตัวเองไปบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด ซึ่งต้องทำที่ศูนย์ไตเทียม หรือหน่วยบริการล้างไต เพราะวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง สปสช. สามารถส่งน้ำยาล้างไตไปให้ได้ที่บ้าน และผู้ป่วยก็ทำได้เอง ไม่มีค่าใช้จ่ายแฝง โดยเฉพาะค่าเดินทาง จึงเป็นแนวทางที่ใช้มาตลอด

"จนถึงปี 2565 ที่เราปรับใหม่ โดยให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้เลือกแนวทางการบำบัดทดแทนไตได้เอง โดยปรึกษาร่วมกันกับแพทย์ จากนั้นก็ได้เห็นว่าสัดส่วนการฟอกเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพราะสะดวกกับประชาชนมากกว่า ที่ไม่ต้องทำเอง และไม่มีค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่สุดท้ายผู้ป่วยก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ดี เพราะต้องเดินทางไปฟอกเลือดทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ต้องรักษาตัวเอง" ทพ.อรรถพร ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตจำนวนราว 7.9 หมื่นคน ขณะที่งบประมาณในการดูแลก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2563 สปสช. ตั้งงบประมาณสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไว้ 9,300 ล้านบาท ใช้จริง 8,900 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งงบประมาณไว้ 9,700 ล้านบาท ใช้จริง 1.04 หมื่นล้านบาท ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ สปสช. ปรับแนวทางให้ผู้ป่วยเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตเองได้ ตั้งงบประมาณไว้ 9,700 ล้านบาท ใช้จริง 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2566 ก็ตั้งงบประมาณไว้ 9,900 ล้านบาท แต่ใช้จริง 1.2 หมื่นล้านบาท

"ส่วนปี 2567 เราก็ตั้งเอาไว้ใกล้เคียงกับการใช้จริงในปี 2566 คือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่มาถึงเดือน มี.ค. 2567 นี้ เราใช้ไปแล้วถึง 7,000 ล้านบาท ประเด็นสำคัญคือหากเรายังเอาแบบนี้อยู่ ก็ดูว่างบประมาณจะไม่พอแน่ๆ สำหรับบำบัดทดแทนไตให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และนั่นจะกระทบต่องบประมาณของประเทศในอนาคต ดังนั้นจึงต้องหาทางออก" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ทางออกนั้นคือความพยามที่จะลดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา หรือชะลอโรคไตไม่ให้เรื้อรังออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็คือการป้องกันไม่ให้คนไทยต้องป่วยเป็นโรคไต โดยเครื่องมือสำคัญของ สปสช. คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่ สปสช. จะมีงบประมาณแบบ Matching funds หรือเป็นงบประมาณที่สมทบกันระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ใช้งบประมาณส่วนนี้ในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค

สำหรับรูปแบบของ กปท. คือ สปสช. จะสมทบเงินเข้ากองทุนฯ และ อปท. ก็จะร่วมสมทบตามขนาดของ อปท. และจำนวนประชากรในพื้นที่ โดยบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งก็เป็นคนในท้องถิ่นนั้นเองที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยมี กปท. ในหลายพื้นที่ที่ทำเรื่องการชะลอไตเสื่อม ตามรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของนวัตกรรมหรือชุดตรวจเพื่อคัดกรองโรค ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สปสช. ต้องการสนับสนุนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คิดค้นวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไต ที่ประชาชนสามารถตรวจได้เอง ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ สปสช. ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะจะเป็นกลไกเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองสุขภาพได้ด้วยตัวเอง

"อย่างเรื่องไต ถ้าเรามีชุดตรวจ และทำให้ประชาชนรู้ความเสี่ยงของตัวเองก่อน ก็จะสร้างความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของตัวเอง และทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมันจะช่วยคลายกังวลได้ เหมือนกับการตรวจโควิด-19 ผ่าน ATK" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ สปสช. เองก็ตื่นตัวและอยากให้มีชุดตรวจคัดกรองโรคเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพให้มากขึ้น และพร้อมเปิดกว้างรับงานวิจัยด้านสุขภาพ ในแง่การป้องกันโรคที่ได้ผลดี และสามารถต่อยอดไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ สปสช. พร้อมยินดีจะสนับสนุนอย่างมาก 

"เรามีช่องทางพิเศษสำหรับนวัตกรรมที่ได้จากการคิดค้นของคนไทย ผลิตโดยคนไทย ส่วนหนึ่งก็เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และ สปสช. พร้อมจะสนับสนุนแบบสุดซอย 100% เพราะเราไม่อยากพึ่งพาต่างประเทศ ที่เขาจะกดราคาเท่าไรก็ได้ ซึ่งเราก็จำเป็นต้องซื้อมาใช้ แต่หากเรามีนวัตกรรมของตัวเอง อย่างเช่นชุดตรวจโรคไต เราอยากได้นวัตกรรมแบบนี้มาใช้งาน" ทพ.อรรถพร กล่าว