ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดตัวตำรับยา "ยาอดยาบ้า" เป็นทางเลือกรักษาผู้ติด "ยาบ้า" โดยพัฒนาจากยาแผนไทย-สมุนไพร เผยผลลัพธ์หลังจ่ายยาให้ผู้ป่วยกว่า 400 ราย พบส่วนใหญ่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ


นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิดให้บริการ "คลินิกบำบัดยาเสพติดด้วยแพทย์แผนไทย" เป็นการรักษาเน้นการใช้ยาสมุนไพร โดยได้ดำเนินการนำร่องแล้ว 3 แห่ง ที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จ.อุดรธานี และ จ.พัทลุง

นพ.เทวัญ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติการรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ล่าสุดกรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) จำนวน 35 ชุมชน ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด เป็นการดำเนินงานในลักษณะการลงชุมชนให้ความรู้ ออกหน่วยตรวจรักษา ซึ่งมีทั้งการจ่ายยาสมุนไพรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำหัตถการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ทั้งนี้ พบว่าจากสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้รับ "ยาอดยาบ้า" จำนวน 407 คน ประกอบด้วย เพศชาย 378 คน และเพศหญิง 29 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 90% ติดยาเสพติดประเภทยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า สำหรับกระบวนการรักษาผู้ติดยาเสพติด จะเน้นการใช้ยาแผนไทยและสมุนไพรในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย กลุ่มล้างพิษ เช่น ยารางจืด ชาสมุนไพรย่านางแดง, กลุ่มยาปรับธาตุ เช่น ยาตรีผลา, ยาบำรุง เช่น ยาขมิ้นชัน ยาหอมนวโกฐ, แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ยาแก้ลมแก้เส้น นอนไม่หลับ ตำรับยาศุขไสยาศน์ หรือ ตำรับยาการุณย์โอสถ เป็นต้น

ด้าน ดร.ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่า ในกรณีผู้ติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ติดยาเสพติดประเภทยากลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ที่มีอาการรุนแรง แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะใช้ตำรับยาอดยาบ้า ซึ่งมีรูปแบบเป็นยาเม็ดฟู่ ผลิตโดยกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร มีสรรพคุณใช้ลดอาการอยากยาในผู้ป่วยเสพติดยา โดยเฉพาะยาบ้า

สำหรับวิธีใช้ ให้เตรียมยา 1 เม็ด ละลายในน้ำ 150-250 มิลลิลิตร รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์สั่ง เพื่อควบคุมอาการอยากยา โดยขนาดที่ได้รับต่อวันไม่ควรเกิน 5 เม็ด/วัน รับประทานต่อเนื่อง 14 วัน และค่อยๆ ปรับลดขนาดยาลงทุกระยะ 1-2 วัน ตามการตอบสนองของผู้ป่วยจนหยุดยา ภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยตำรับยาดังกล่าว มีประสิทธิผลตอบสนองในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ