ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบบสาธารณสุขของประเทศแคนาดา จะเป็นรูปแบบที่รัฐบาลจัดบริการให้ โดยเมื่อประชาชนชาวแคนาดาเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงขั้นต้องไปหาหมอ “หมอคนแรก” ที่พวกเขาจะมีคือ “Family Doctor” หรือ “หมอประจำครอบครัว” ซึ่งถือเป็นผู้ให้การรักษาในด่านแรก โดยมักจะอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือเขตเมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่

สำหรับหมอครอบครัวที่อยู่ในชุมชนหรือย่านพักอาศัย จะตรวจและให้การรักษาโรคในกรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก โดยให้ยารักษาได้ แต่หากเกินกว่าศักยภาพที่จะรับมือไหว ก็จะต้องส่งตัวผู้ป่วยต่อไปในโรงพยาบาลเพื่อให้ “หมอเฉพาะทาง” รักษาต่อ

ส่วนการรักษาทุกอย่างคือ “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อาจจะมี “ค่ายา” บ้างบางส่วนที่ประชาชนต้องจ่ายเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบของระบบสาธารณสุขแคนาดาที่ต้องให้มีหมอประจำครอบครัว หรือ Family Doctor ก็อาจกำลังก่อปัญหา เพราะขณะนี้แคนาดาเองก็ขาดแคลน “หมอในระบบ” เหมือนกับอีกหลายประเทศ นั่นส่งผลให้มีประชากรอีกจำนวนมาก ยังไม่มีหมอคนแรกที่พวกเขาจะพึ่งพิงได้เมื่อต้องเจ็บป่วย

ภาพที่ตามมาคือเมื่อ “หมอประจำครอบครัว” ไปประจำคลินิกในเมืองหรือชุมชนใดก็ตาม ก็จะมีประชาชนในละแวกจำนวนมากมาต่อแถวยืนรอหลายชั่วโมง เพื่อลงทะเบียนให้ตนเองหรือครอบครัวได้มี “Family Doctor” ดูแลยามเจ็บป่วยตามระบบสาธารณสุขของประเทศได้

เช่นเดียวกับภาพล่าสุดที่เผยแพร่ในสำนักข่าว CBC ของแคนาดา ซึ่งเผยให้เห็นผู้คนจำนวนมากที่ต่อแถวรอคอยเพื่อลงทะเบียนให้มีหมอประจำครอบครัวดูแล โดยบางคนต่อแถวรอถึง 6 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ลงทะเบียน แต่พวกเขาก็บอกว่ามันคุ้มค่า นั่นเพราะบางคนรอวันที่จะได้เข้ามาต่อแถวเพื่อลงทะเบียนแบบนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว 

ในบทความของ CBC ได้ไปเกาะติดประชาชนที่มาต่อแถว ณ คลินิกแห่งหนึ่งในเมืองคิงส์ตัน รัฐออนทาริโอ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา หลังจากที่ทางคลินิก “CDK Family Medicine and Walk-In Clinic” ได้ประกาศกับชุมชนว่าจะมีหมอครอบครัวมาประจำที่คลินิก 4 คน และสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 4,000 คน แต่ในเมืองแห่งนี้มีประชากรจำนวนถึง 3 หมื่นคน ที่ยังไม่มีหมอประจำครอบครัวเลย

แน่นอนว่าภาพที่เกิดขึ้นคือประชาชนหลายร้อยคนต้องผิดหวังกลับบ้านไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษา ก็ยังมีทางเลือกคือการเข้าไปยังคลินิกการแพทย์ฉุกเฉินได้ เพียงแต่อาจไม่สะดวกเหมือนกับการมีหมอประจำครอบครัว

ขณะเดียวกันก็ย่อมมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ดีใจ แม้ว่าจะต้องยืนต่อแถวข้ามคืนเพื่อลงทะเบียนก็ตาม เพราะหมายความว่านับจากนี้ หากเขาหรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็จะมีแพทย์ประจำครอบครัวคอยดูแลรักษา

อย่างเช่นครอบครัวของ “เคท” ที่มาต่อคิวนับ 10 ชั่วโมงท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ โดยพวกเขาอยู่ในคิวลำดับที่ 95 ในการลงทะเบียนของคลินิก ที่จะรับลงทะเบียนหมอครอบครัวเพียง 100 ครอบครัวเท่านั้น 

เคท ในฐานะภรรยา บอกกับสื่อว่าพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองคิงส์ตัน ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2020 และเข้าลิสต์รายชื่อเพื่อขอลงทะเบียนมีหมอประจำครอบครัวมาตลอด โดยลูกสาวของเธอที่วันนี้อายุ 4 ขวบ ได้เจอหมอครั้งสุดท้ายตอนที่มีอายุแค่ 6 เดือน

"เมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย เราจะได้มั่นใจว่าได้รับการดูแลโดยหมอครอบครัว ไม่ต้องวิ่งไปที่คลินิกฉุกเฉิน หรือที่อื่นๆ ที่อาจต้องรอการรักษานานเกินไป" เคท บอกกับ CBC

แม้เคทจะเป็นตัวอย่างครอบครัวที่ทำได้สำเร็จ แต่อีกด้านของแถวที่อยู่หลังออกไปอีก 200 คิว คือ “เจมี” ที่เขาตัดสินใจเดินกลับบ้าน เพราะรู้แล้วว่าครอบครัวตนเองคงไม่มีสิทธิได้ลงทะเบียนมีหมอประจำครอบครัว

"มีคนข้างหน้าผมอีก 200 คน มันจึงน่าหงุดหงิดที่พวกเราไม่ได้มีหมอครอบครัว และไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไรจึงจะได้มาลงทะเบียนอีกครั้ง" เจมี สะท้อนถึงความผิดหวัง อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่วันให้หลังทาง CBC ก็ได้รับการยืนยันจากเจมีอีกครั้ง ว่าในที่สุดเขาได้รับการลงทะเบียนและมีหมอประจำครอบครัวไว้กับตัวแล้ว หลังจากที่ได้พยายามหาคลินิกที่เปิดรับลงทะเบียน

ในมุมของผู้ให้บริการจากคลินิกในชุมชน “ดร.เยน” หัวหน้าทีมแพทย์ของคลินิก CDK Family Medicine and Walk-In Clinic กล่าวว่า ในวันแรกที่เปิดรับลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ต้องจำใจเดินไปแจ้งกับคนที่ต่อคิวอยู่บริเวณแถวหลังให้กลับบ้าน เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลา เพราะไม่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้ลงทะเบียน เนื่องจากเกินกว่าจำนวนเกณฑ์ที่หมอจะรับดูแลได้

แต่เมื่อเห็นภาพของประชาชนที่ยืนต่อแถว จึงเกิดความรู้สึกที่แย่ขึ้น เพราะว่าประชาชนผิดหวังที่ไม่ได้มีหมอประจำครอบครัว จึงทำให้ทีมแพทย์ของคลินิกชุมชนต้องมาเปิดรับลงทะเบียนอีกครั้ง 

"มันคือวิกฤตในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐออนทาริโอเลย แม้ว่าคลินิกอย่างพวกเราพยายามทำเต็มที่ในสถานการณ์นี้แล้วก็ตาม" ดร.เยน กล่าวย้ำ

เมื่อมองกลับมายังระบบสาธารณสุขของประเทศไทย จะเห็นความต่างได้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดการออกแบบระบบสุขภาพปฐมภูมิเอาไว้ ภายใต้การทำให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน หรือ “3 หมอ” ซึ่งจะประสานการทำงานดูแลประชาชนได้อย่าง “ใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” โดยเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน

สำหรับหมอคนที่ 1 “หมอประจำบ้าน” คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่ เยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ คัดกรอง ติดตามและดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น หมอคนที่ 2 “หมอสาธารณสุข” คือ บุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกหมอครอบครัว ศูนย์บริการสาธารณสุข ฯลฯ ครอบคลุมทุกสาชาวิชาชีพ และหมอคนที่ 3 “หมอครอบครัว” คือ แพทย์ในโรงพยาบาล เป็นผู้มอบการรักษา ดูแล ให้คำปรึกษา ประสานและส่งต่อการรักษาพิเศษ


อ้างอิง: https://www.cbc.ca/news/canada/ottawa/hundreds-line-up-outside-kingston-clinic-in-desperate-bid-for-family-doctor-1.7130133