ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทิศทางการเพิ่มจำนวนของ 'หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่' ในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวกำลังทะยานขึ้นไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าของโครงการนี้ ที่เป็นโปรเจกใหญ่ในการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งสำคัญของประเทศไทย ให้กับคนไทยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่จากเดิมรักษาทุกโรค มาสู่การรักษาได้ทุกที่ ผ่านหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่เหล่านี้ ที่จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน 

'ร้านขายยา' ที่เป็นของภาคเอกชน เป็นอีกหนึ่งใน 8 หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่จะทำให้คนไข้ไม่ต้องไปรอรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาล แต่ไปรับยาทีร้านยาได้เลย ซึ่งแพทย์จะส่งใบสั่งยาตามระบบไปยังร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 

โดยหลังจากคิกออฟโครงการไปในพื้นที่ 4 จังหวัดแรกเมื่อม.ค.2567 ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนก็ส่งผลให้ลดความแออัดของโรงพยาบาลได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมารอรับยาหลายชั่วโมงเหมือนเดิม มากไปกว่านั้น ประชาชนก็เริ่มรับรู้เกี่ยวกับโครงการ และการใช้บริการจากร้านยามากขึ้น อย่างเจ็บป่วยเล็กน้อยอย่างไร ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่เดินเข้าร้านยา ปรึกษาคุยอาการกับเภสัชกร แล้วรับยากลับบ้านได้เลย 

ทั้งหมดคือตัวอย่างการบริการสุขภาพใหม่ของโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวที่ร้านยาเข้ามาเกี่ยวข้องและหนุนเสริมระบบสุขภาพใหม่ของประเทศ และที่สำคัญคือประโยชน์ที่ตกอยู่กับประชาชน เพราะบริการทุกอย่างที่ได้รับจะไม่มีค่าใช้จ่าย

เมื่อมาถึงเดือนมี.ค.2567 นี้ เป็นช่วงเวลาที่อีก 8 จังหวัดซึ่งรัฐบาลได้คัดเลือกเอาไว้แล้ว ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา จะได้เดินหน้าโครงการนี้บ้าง และในส่วนของร้านยาเองก็เริ่มตอบรับมากขึ้นแล้วด้วย 

เพราะหลังจากที่ระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะที่หน่วยงานหนึ่งก็ดูแลกำกับร้านยา และอีกหน่วยหนึ่งก็ดูแลหลักประกันสุขภาพให้กับสิทธิบัตรทอง 30 บาทให้กับคนไทย 48 ล้านคน จับมือกันลงพื้นที่ 8 จังหวัด ปูพรมชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับร้านยาเกี่ยวกับโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในโครงการนี้ให้มากขึ้น

ปลายเดือน ก.พ.2567 เป็นวันที่สิ้นสุดการลงพื้นที่ครบ 8 จังหวัด The Coverage มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ของสภาเภสัชกรรม 'รศ.ภญ.สุณี เลิดสินอุดม' กรรมการและเหรัญญิก สภาเภสัชกรรม ที่ร่วมลงพื้นที่เพื่อไปพบกับพี่ๆ น้องๆ เภสัชกรที่มีร้านยาจากทั่วประเทศ เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมสำหรับในเฟส 2 ของโครงการที่กำหนด 8 จังหวัดจาก 8 เขตสุขภาพให้เดินหน้าในเดือนมี.ค.นี้ ในส่วนของร้านยาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจากสายตาและการไปสัมผัสจริงในทุกพื้นที่ของ รศ.ภญ.สุณี ก็พบว่าความร่วมมือก่อตัวเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากกระแสตอบรับที่สะท้อนให้เห็นว่า ร้านยา ก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ระดับประเทศ ที่จะพลิกโฉมระบบสุขภาพของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง 

รศ.ภญ.สุณี เลิดสินอุดม กรรมการและเหรัญญิกสภาเภสัชกรรม นั่งลงพูดคุยกับเรา และย้ำว่า ขณะนี้ทั้ง 8 จังหวัด พบว่าร้านยาให้ความร่วมมืออย่างดี และสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ 
    
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา ร้านยาต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ได้มาตรฐานคุณภาพในการบริการ ก็ได้ร่วมโครงการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยบริการร่วม มากว่า 2 ปี เริ่มจากบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพ และบริการรับยาที่ร้านยาแทนโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัด ทำให้เมื่อมีโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ร้านยาจะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

ทั้งนี้ เภสัชกรทุกคนเข้าใจดีว่า โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเป็นโครงการใหญ่ของประเทศ และอีกด้านก็เห็นโอกาสที่วิชาชีพเภสัชกร จะได้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ที่จะได้มาทำงานร่วมกัน 

"โดยเฉพาะกับการใช้ยา ที่เภสัชกรจะได้ดูแลประชาชนในเรื่องการใช้ยาได้ครอบคลุมมากขึ้น มากกว่าเดิมที่จ่ายยาให้เท่านั้น แต่เภสัชกรจะเห็นข้อมูลของคนไข้ที่มาร้านยา และดูได้ว่าหากให้ยาไปแล้วจะตรงกับอาการของคนไข้ หรือไปมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หรือยาจะตีกันหรือเปล่า ซึ่งจะทำให้การให้ยาเพื่อรักษา และส่งเสริมสุขภาพที่ออกจากร้านยาไปมีคุณภาพและได้มาตรฐานเดียวกัน" รศ.ภญ.สุณี กล่าว 

ขยับเข้าหา'ร้านยาอำเภอ-ตำบล' ต้องเพิ่มจำนวนร่วมโครงการ

กรรมการสภาเภสัชกรรม ให้ภาพว่า ปัจจุบันมีร้านยาทั่วประเทศประมาณ 1.7 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้ที่ผ่านมาสมัครเป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช.แล้วประมาณ 3,000 แห่ง และเข้าร่วมในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวไปแล้วอีกกว่า 2,000 แห่ง และในปีนี้ก็คาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5,000 แห่งทั่วประเทศ 

"แต่ที่เรา (สภาเภสัชกรรม) ต้องการให้เข้าร่วมมากขึ้นจริงๆ คือร้านยาในชุมชน โดยเฉพาะร้านยาประจำอำเภอ และตำบล" รศ.ภญ.สุณี บอก ซึ่งสะท้อนมาได้ว่า มูฟเมนต์สำคัญของสภาเภสัชกรรมจากนี้ จะมุ่งชักชวนให้ร้านยาที่อยู่ในแต่ละอำเภอ ตำบล ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ร้านยาที่เข้าร่วมยังกระจุกตัวอยู่ในเขตตัวเมือง หรือในตัวจังหวัดเป็นส่วนมาก แต่ในพื้นที่ชนบท หรือห่างไกลออกไปที่มีร้านยาเช่นกัน ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมมากเท่าใดนัก

"สภาเภสัชฯ จะเน้นเรื่องนี้ เราก็ต้องออกไปเชิญน้องๆ เภสัชกรร้านยาที่อยู่ในแต่ละตำบลให้มากขึ้น โดยจะเน้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของร้านยาเองที่จะได้รับ โดยเฉพาะกับการได้ใช้ศักยภาพวิชาชีพในการดูแลคนไข้ในพื้นที่ ในชุมชน รวมไปถึงชี้แจงเรื่องการเคลมเบิกจ่ายค่าบริการ กับ สปสช. ที่ขณะนี้ก็มีการเบิกจ่ายที่มีประสิทธิภาพ และคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ร้านยามีกระแสเงินสดเพื่อสต็อกยา เวชภัณฑ์ไว้ดูแลประชาชน"  เหรัญญิก สภาเภสัชกรรม กล่าว 

รศ.ภญ.สุณี ให้ภาพอีกว่า สำหรับร้านยาอำเภอ-ตำบล ที่จะเข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สภาเภสัชกรรมจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยชี้แจงและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงการ รวมถึงระบบการตรวจสอบและการเบิกจ่ายกับ สปสช. ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ยุ่งยาก และไม่เกินความสามารถเภสัชกรที่จะเรียนรู้ 

รวมไปถึงยังมีสายด่วน สปสช. 1330 และเจ้าหน้าที่ สปสช.เขตพื้นที่ ที่พร้อมจะตอบทุกคำถามและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสำหรับคลินิกของเอกชน ซึ่งก็รวมถึงร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อให้เข้าร่วมได้อย่างราบรื่นและแก้ไขทุกข้อติดขัดให้ 

เคลมเงิน สปสช.ได้ใน 3 วัน หากทำได้ราบรื่นถือว่า 'สุดยอด'

อย่างไรก็ตาม ในมุมของรศ.ภญ.สุณี มองว่า โครงการนี้พยายามเข้ามาแก้จุดอ่อนเดิม โดยเฉพาะการเคลมเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการ เพราะร้านยาที่เป็นระบบของเอกชน จำเป็นต้องใช้เงินไปหมุนซื้อยา ซึ่งต้องอาศัยกระแสเงินสดในการบริหารจัดการ ต่างจากโรงพยาบาลที่จัดซื้อจำนวนมาก ทำให้มีเครดิตจากบริษัทยา ที่ให้เครดิตในการสั่งซื้อยาเพื่อสต็อกเอาไว้ได้
    
แต่ด้วยการเบิกจ่ายที่ผ่านมา ที่สปสช. จ่ายให้กับร้านยาที่ร่วมโครงการกัน ทั้งโครงการที่ให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านในกลุ่ม 16 อาการ รวมถึงงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ที่ สปสช. มีการจ่ายชดเชยให้ได้ภายใน 15 วัน และไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งทำให้ร้านยาก็มั่นใจมากขึ้นที่จะร่วมโครงการใหญ่ของประเทศ 
    
"ยิ่งกับโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สปสช. เซ็ทระบบการเบิกจ่ายให้ได้ภายใน 3 วัน ซึ่งจากที่ผ่านมาเบิกจ่ายได้ใน 15 วันก็ทำให้ร้านยาเอกชนสามารถใช้เงินสดไปหมุนยาในร้านได้แล้ว แต่หากทำได้ใน 3 วัน และราบรื่นจริงๆ ทั่วประเทศ ก็ต้องบอกเลยว่าสุดยอดมาก เพราะจะทำให้ร้านยามั่นใจ และจัดบริการแบบฟูลออปชั่น หรือเต็มพิกัดตามาตรฐานและคุณภาพให้กับคนไข้ได้อย่างไร้กังวล" รศ.ภญ.สุณี ให้ความเห็น 

30 บาทรักษาทุกที่ ลดแออัด เปิดทางหมอยา ดูคนไข้หนักใน รพ.

มากไปกว่าจะมีบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่ทำให้สิทธิบัตรทอง 30 บาท มีทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองที่มากกว่าการไปโรงพยาบาล อย่างเช่น เจ็บป่วยเล็กน้อย หรือไปหาหมอแล้วต้องรอรับยา ก็อาจไม่ต้องรออีกต่อไป หากแต่ไปร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้เลย 
    
จุดนี้เองที่จะช่วยทำให้พื้นที่ห้องยาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่เคยแออัด มีภาระงานล้นมือจนเภสัชกรของโรงพยาบาลไม่มีเวลาไปดูแลคนไข้หนัก ซึ่งเป็นปัญหาทุกโรงพยาบาล ที่เคยหนักหนาจะได้รับการคลี่คลาย 
    
เพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะทำให้โรงพยาบาลได้กระจายคนไข้ไปรับยาที่ร้านยาซึ่งเป็นหน่วยบริการของโครงการได้ และมันจะเปิดช่องให้ภาระงานลดลง ส่งผลต่อมาให้เภสัชกรมีเวลาไปดูแลผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องดูแลในโรงพยาบาล


    
"แต่เดิมเภสัชกรในโรงพยาบาล แทบจะไม่มีเวลาขึ้นวอร์ดไปดูแลคนไข้หนักเลย แต่เมื่อมีโครงการนี้ และทำให้ผ่องถ่ายคนไข้ที่ไม่หนักมาร้านยาได้ และมั่นใจว่าเภสัชกรร้านยาก็ดูแลคนไข้ได้ตามวิชาชีพ สามารถแนะนำการใช้ยา ทั้งการกิน การฉีดยา หรือการวัดค่าร่างกายต่างๆ ได้อย่าง 'มีเวลามากขึ้น' มันจะช่วยให้คนไข้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาได้ดีกว่าเดิม ที่ต้องไปเร่งรีบรับยา และเภสัชกรที่โรงพยาบาลก็ต้องเร่งรีบจ่ายยาเหมือนกัน ทำให้อาจมีข้อผิดพลาดการใช้ยาตามมาได้" เหตุผลสำคัญของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ที่ รศ.ภญ.สุณี ย้ำกับเรา 

กรรมการสภาเภสัชกรรม ยกตัวอย่างต่างประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่จะไม่มีการจ่ายยาในโรงพยาบาล แต่จะออกใบสั่งยาเพื่อให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาแทน และไปรับคำแนะนำการใช้ยากับเภสัชกรที่อยู่ร้านยา ซึ่งประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าไปสู่จุดนั้น คือการผ่องถ่ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาล มาให้ภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยหนุนเสริมดูแล 

อีกทั้ง การจ่ายยาพื้นฐานในกลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยตามวิชาชีพ และขอบเขตของเภสัชกร รวมถึงความรู้ความสามารถในเรื่องการใช้ยาให้สอดรับกับสุขภาพของผู้ป่วย ก็เป็นเรื่องพื้นฐานของเภสัชกรที่ทำได้อยู่แล้ว 

"โครงการนี้ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยได้เจอกับวิชาชีพเฉพาะทางมากขึ้น เช่น ต้องการเจอหมอยา ก็ต้องได้เจอหมอยา ต้องการไปคลินิกกายภาพบำบัด ก็ต้องเจอกับนักกายภาพบำบัด เหล่านี้ คืองานสุขภาพปฐมภูมิที่เภสัชกรดูแลได้ แต่หากเกินกว่านี้ก็ค่อยส่งตัว" รศ.ภญ.สุณี ทิ้งท้าย