ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะที่การพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่หยุดยั้ง น่าจะช่วยให้ผู้คนกว่า 8 พันล้านคนบนโลกมีทิศทางทางสุขภาพที่ดีขึ้น และความเจ็บป่วยลดน้อยลง 

ทว่า จากสถิติทางสุขภาพต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับสวนทางอย่างน่าเป็นห่วง เช่น ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Oncology ซึ่งระบุว่า จากการสำรวจประชากรหลายร้อยประเทศทั่วโลก พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 3.26 ล้านคน ในปี 2562 

แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเคยมีการคาดการณ์ด้วยว่าประชากรทั่วโลกจะเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จาก 38 ล้านคนใน 2558 เป็น 41 ล้านคนในปี 2559 

เพราะเหตุใดสถานการณ์จึงลงเอยแบบนั้น แล้วระบบสุขภาพไทยเราจะเดินต่อไปอย่างไรภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้น “The Coverage” ขอชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจและหาทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการสนทนากับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “งานวิจัยกับการพัฒนาระบบสุขภาพ”

4

ความแตกต่างของ ‘การแพทย์’ กับ ‘การสาธารณสุข’

นพ.ศุภกิจ เริ่มอธิบายให้เห็นความแตกต่างของความหมายระหว่างคำว่า 'การแพทย์' และ 'การสาธารณสุข' ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเหมือนกันว่า หากพูดถึงเรื่องการแพทย์ จะหมายถึง การที่แพทย์มุ่งเน้นไปที่ ‘การรักษา’ ที่ตัวบุคคล จากความผิดปกติให้กลับเป็นปกติ ผ่านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ หรือยา ที่ใช้รักษาหรือช่วยชีวิต เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตในระดับที่ดีใกล้เคียงเหมือนเดิม 

ส่วนคำว่า 'การสาธารณสุข' หมายถึงสุขภาพของสาธารณะ ที่ไม่ได้มุ่งไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่เน้นไปที่เรื่องสุขภาพของชุมชน ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือไม่ให้เกิดโรค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ แตกต่างกันไปตามความสำคัญ ประกอบด้วย 1. การป้องกันระดับต้น คือการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค 

2. การป้องกันก่อนเริ่มโรค ซึ่งเป็นการคัดกรองโรคเพื่อติดตามดูแล โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงมีอาการจากโรคที่รุนแรงในอนาคต และ 3. การป้องกันเมื่อเป็นโรคแล้ว หรือการป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้วมีภาวะแทรกซ้อน และมีการติดตามดูแลเพื่อให้ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม มีการกินยาสม่ำเสมอ

นพ.ศุภกิจ บอกต่อไปว่า การป้องกันนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention: P&P) หรือการจัดบริการสุขภาพที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาด้วย แต่ในส่วนที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ จะหมายถึงการยกระดับสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เช่น หากมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อมีโรคภัยมาเยือนก็จะมีโอกาสไม่ป่วย หรือป่วยยากกว่าคนไม่ออกกำลังกาย

4

โรค NCDs ยังเป็นปัญหาหลักคุกคามทั่วโลก

นพ.ศุภกิจ ได้ฉายภาพสถานการณ์สุขภาพของไทยและโลกว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นแนวโน้มปัญหาทางสุขภาพที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งไทยก็หนีไปจากปัญหานี้ไม่พ้นเช่นกัน เพราะจากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ที่ทำกันทุกๆ 5 ปี พบว่าในระยะ 3 ครั้งหลังล่าสุด ไทยยังไม่สามารถลดอัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ 

ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน อัตราผู้ป่วยขยับเพิ่มขึ้นจาก 7% ไปสู่ระดับ 8.9% และมาถึง 9.4% ในผลสำรวจสุขภาพครั้งล่าสุด หรือโรคความดัน ที่ผลสำรวจสุขภาพครั้งที่ 4 พบว่ามีผู้ป่วย 20% และก็เพิ่มขึ้นมาเป็น24.7% และมาถึง 25.4% ในครั้งล่าสุด 

อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสุขภาพทั่วโลกก็พยายามใช้กลไกการวิจัยเข้ามาปรับเสริมเติมแต่ง เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพ ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเองก็จะมุ่งมาที่การใช้งานวิจัยเพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อต่อยอดให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย รวมถึงยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น ตลอดจนสอดรับพร้อมกับมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์สุขภาพของคนไทย  

ทว่า นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของประเทศไทย รวมถึงล่าสุดอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตมาบรรจบกันแล้ว และคาดว่าในปีถัดๆ ไป ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะแซงหน้าตัวเลขการเกิด ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจำนวนประชากรจะลดลงเรื่อยๆ เป็นผลให้แรงงานลดน้อยลง และคนรุ่นใหม่ในยุคนี้จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น 

“ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่หลายประเทศต้องเจอ ยกตัวอย่างประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ไปแล้วอย่าง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ก็เจอปัญหาในการจัดการเรื่องประชากรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กว่าทั้ง 2 ประเทศจะเจอปัญหานี้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งทำให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัวในการวางแผนเรื่องประชากรได้บ้าง แต่สำหรับประเทศไทย กลับเดินไปสู่สังคมสูงวัยที่ค่อนข้างรวดเร็ว และอาจส่งผลให้เตรียมตัวเตรียมการรับมือไม่ทัน” ผู้อำนวยการ สวรส. ระบุ

มากไปกว่านั้น ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในโลกยังต้องเจอกับปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ของประชากรอีกด้วย โดยสำหรับไทยปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงไทย 1 คนเฉลี่ยให้กำเนิดบุตรอยู่แค่ 1.1 คน ซึ่งแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะพยายามอย่างไร แต่สถานการณ์ตอนนี้ต้องบอกตามตรงว่าค่อนข้างแก้ได้ยาก ถึงจะบอกให้มีลูกเพื่อชาติ ก็อาจไม่ได้ผล 

“อย่างรัฐบาลสิงคโปร์ ออกแคมเปญมีส่วนลดที่อยู่อาศัย บ้าน หรือคอนโดสำหรับครอบครัวที่มีลูก เพื่อกระตุ้นให้มีลูกกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ผล” นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงความพยายามแก้ปัญหาการเกิดน้อยในต่างประเทศ” ผู้อำนวยการ สวรส. ระบุ

4

ระบบสุขภาพไทย

ในการแก้ปัญหาทางสุขภาพที่ไทยต้องเผชิญ อาจต้องมาทบทวนก่อนว่าที่ผ่านมาระบบสุขภาพไทยมีลักษณะอย่างไรและเพียบพร้อมไปด้วยฐานทุนขนาดไหน โดย นพ.ศุภกิจ ได้อธิบายในประเด็นนี้ว่า ระบบสุขภาพของทั่วโลกมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน แต่แกนหลักแล้วจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘6 Building Blocks’ หรือ องค์ประกอบของระบบสุขภาพ 6 ประการ ที่จะส่งผลให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชน อันประกอบด้วย 1. ระบบบริการ 2. กำลังคนด้านสุขภาพ 3. ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ 4. ยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ 5. การเงินการคลังด้านสุขภาพ และ 6. การอภิบาลระบบ 

ทว่า สำหรับประเทศไทยจะต่างออกไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 6+1 เพราะระบบสุขภาพไทยมีกล่องที่ 7 คือ ‘ระบบสุขภาพชุมชน’ ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคส่วนจากชุมชนที่คอยดูแลสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนในชุมชนด้วยกัน ต่างจากต่างประเทศที่ไปรักษาแล้วก็จบกันเลย 

“ระบบสุขภาพชุมชน ทำให้เราโดดเด่นอย่างมาก และทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในระดับโลกในเรื่องของการจัดบริการสุขภาพ” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวเสริมถึงความสำคัญของระบบสุขภาพชุมชน

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หากมองระบบสุขภาพไทยให้ลงลึกไปอีก ก็จะพบว่า ลักษณะของระบบสุขภาพไทยจะแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1. ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลระดับใด จะต้องให้บริการสาธารณสุขแบบผสมผสาน ซึ่งหมายถึง การให้บริการสุขภาพที่ทั้งดูแลรักษา ฟื้นฟู และสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค รวมไปถึงคุ้มครองผู้บริโภค 

2. การวางระบบบริการสุขภาพตามเขตการปกครอง ซึ่งหมายถึงการมีโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ มีโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในทุกจังหวัด และ 3. การให้บริการสุขภาพส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ง่ายต่อการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งยังทำให้การเข้าถึงการรักษามีความเท่าเทียมกันเกือบทั้งหมด 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ด้วยระบบนี้เองที่ไทยใช้ขับเคลื่อนมากว่าครึ่งศตวรรษ ผ่านการดำเนินการขับเคลื่อนในสองขา โดย 'ขาซ้าย'’  คือระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นเรื่องการแพทย์ ซึ่งมีรัฐบาลคอยสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาให้กับคนไทยทุกคนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาทประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) ตลอดจนการจัดหาเทคโนโลยี การเติมกำลังบุคลากรทางการแพทย์ หรือการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทางสุขภาพ 

ขณะที่ ‘ขาขวา’ เป็นเรื่องของการสาธารณสุข ที่หมายความถึงการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน  ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนในการดูแลสุขภาพของตนเองด้วย เช่น หากไทยจะฉีดวัคซีน หน้าที่การจัดหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพเป็นของรัฐบาล ประชาชนมีหน้าที่มาที่ฉีดวัคซีนให้ได้เมื่อถึงเวลาที่กำหนด 

“ประเทศไทยโชคดีที่เรามี ‘สองขา’ ที่เข้มแข็ง ทำให้ระบบสุขภาพเดินหน้าได้อย่างดีมาตลอด 

“ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ สุดท้ายแล้วทั้ง 3 กองทุนอาจต้องมารวมกันเป็นกองทุนเดียวในอนาคตเพื่อดูแลประชาชนคนไทยทั้งหมด เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึกเป็นแนวทางที่ชัดเจนว่าจะจัดระบบให้ทัดเทียมกันได้อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ยังเห็นว่ารัฐบาลก็พยายามลดความแตกต่างระหว่างแต่ละกองทุน เพื่อให้การบริการสุขภาพมีความใกล้เคียงกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นพ.ศุภกิจ ชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญ

4

อนาคตระบบสุขภาพไทย

ในช่วงท้าย นพ.ศุภกิจ ให้มุมมองถึงอนาคตของระบบสาธารณสุขของประเทศว่า อนาคตหนีไม่พ้นที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนช่วยอย่างมาก อย่างเช่นที่ตอนนี้ทุกคนได้สัมผัสกันแล้ว นั่นคือ ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่นำมาใช้แก้ปัญหาลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคอยรับบริการ ซึ่งเป็นระบบที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยและรู้จัก พร้อมกับมีจำนวนการใช้บริการมากขึ้นแล้ว 

รวมถึงสิ่งที่จะตามมาคือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ (AI Medical) ที่จะมีบทบาทเยอะมากในเรื่องการแพทย์ เพราะแพทย์จบใหม่จะใช้งานมากขึ้น เช่น การอ่านผลค่าเอ็กซเรย์ ที่ขณะนี้มีเครื่องอ่านค่าพร้อมกับส่งผลไปยังแพทย์เจ้าของไข้ได้ทันที 

มากไปกว่านั้น การแพทย์อนาคตจะมุ่งไปสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ที่อาศัยความรู้ด้านจีโนมิกส์มากขึ้น เพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุดมากขึ้น เช่น การตรวจหาดาวซินโดรมทารกในครรภ์ การคัดกรองมะเร็งลำไส้จากตัวอย่างที่แม่นยำมากขึ้น  

กระนั้น นพ.ศุภกิจ บอกว่า หากมองไปที่ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ข้อเท็จจริงก็คือ บริการสุขภาพ ซึ่งรวมเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพไปด้วย มีส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้น นอกนั้นเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรม (Genetics) 30% พฤติกรรมบุคคล 40% และปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 20% ดังนั้นต้องมาช่วยกันคิดต่อว่าเทคโนโลยีจะเข้าไปสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ เหล่านี้ได้อย่างไร 

“วันนี้เวลาพูดถึงสุขภาพ คนเราจะนึกถึงคือการแก้ไขความจำป่วยของผู้คน ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงรากฐานของสุขภาพถึงความเป็น Wellness จริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพแข็งแรง แต่มีองค์ประกอบต่างๆ เช่น สุขภาพจิต หรือก็คือต้องดูนิยามสุขภาพสมัยใหม่” นพ.ศุภกิจ กล่าว

1

ตำแหน่งแห่งที่ของ สวรส. หลังจากนี้

สำหรับบทบาท สวรส. หลังจากนี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกนิยามว่าเป็นคลังสมองด้านสาธารณสุขของประเทศ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สวรส. จะทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดมีงานวิจัยที่สามารถไปตอบโจทย์ และแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกับการวิจัยที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เพื่อเป็นข้อมูลและข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ  

ตัวอย่างเช่น ช่วงโควิด-19 ที่ครั้งนั้น รัฐบาลต้องการคำตอบเกี่ยวกับยาชนิดหนึ่งเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย และยังเป็นยาเดียวที่มีอยู่ในตลาดอีกด้วย สวรส.จึงไปหนุนทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิของประเทศอย่าง คณะกรรมการประมวลสถานการณ์ โควิด-19 ของ สธ. โดยใช้ชื่อว่า MOPH Intelligence Unit หรือ MIU บนโจทย์ที่ว่าต้องทำอย่างเร็วเพื่อรู้ผลให้เร็วที่สุด ซึ่งตามปกติแล้ว นักวิจัยอาจต้องขอเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อลงมือเรื่องนี้ 

ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวต่อไปว่า แต่ด้วยความรวดเร็วและความชำนาญของนักวิจัย ก็ทำให้ได้คำตอบอย่างรวดเร็ว และพบว่ายาชนิดนี้ช่วยลดความรุนแรงได้บ้างแต่ไม่มากนัก และอนาคตก็เชื่อว่าจะมียาชนิดอื่นออกมาอีก ข้อเสนอคือ ควรซื้อเอาไว้ในประเทศในปริมาณน้อยเพื่อรองรับการใช้งานไปก่อน ซึ่งเป็นการวิจัยผ่านการรีวิวและทบทวนงานวิจัยเดิมที่เคยทำ ก็ทำให้ได้คำตอบที่รวดเร็วและทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลมีผลลัพธ์ที่ดี และเป็นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมันเป็นผลมาจากการวิจัย 

“สวรส. เป็นสถาบันการวิจัย และสนับสนุนการวิจัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ แน่นอนว่าเราจะมุ่งเน้นมาที่เรื่องของระบบสุขภาพ รวมถึงวิจัยโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่ต้องการ เช่น โครงการ 30 บาทบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หรือโครงการรับยาที่ร้านยา เพื่อดูว่าโครงการมีประสิทธิภาพมั้ย การเข้าถึงบริการเป็นอย่างไร อะไรบ้างที่ควรปรับปรุง หรือแม้แต่การเติมกำลังคนเข้าไปในระบบ จะต้องเติมอย่างไร ปริมาณหมอ และพยาบาลต้องเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องการสาธารณสุขที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ 

“แต่อีกด้านในเรื่องการแพทย์ ที่มุ่งเน้นมายังการรักษา สวรส. เองก็ไม่ได้ทิ้ง แต่ยังคงสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ ยา ที่จำเป็นต่อการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยในประเทศในองค์รวม เรื่องนี้ สวรส. ก็ยังสนับสนุนการวิจัยด้วยเช่นกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าวตอนท้าย